“คลัง” ยึดไลเซนส์ “เอเชียประกันภัย” หลังเผชิญหนี้ท่วม-จ่ายสินไหมทดแทนล่าช้า

“คลัง” ลงดาบ "เอเชียประกันภัย" สั่งถอนไลเซนส์ มีผลทันที! หลังฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ฯ ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน


นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1936/2564 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บมจ. เอเชียประกันภัย 1950 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยครั้งนี้ เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดย สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์สูงสุดของประชาชน พร้อมทั้งขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเดือดร้อน ดังนี้

  1. เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัทฯ มีฐานะการเงินไม่มั่นคง จากการดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตาม ที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน สภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า และเสนอขายกรมธรรม์ไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

โดยนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งฯ จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2564

  1. เมื่อให้ระยะเวลาบริษัทฯ แก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนแล้ว ได้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนว่า บริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจัดการสินไหมทดแทนได้

รวมทั้งจากการที่สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามความคืบหน้าจากบริษัทฯ เกี่ยวกับการเพิ่มทุน หรือฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน พบว่าบริษัทฯ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มทุน หรือการแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทฯ และไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทฯ รวมทั้งไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการร่วมทุนจากผู้ร่วมทุนรายอื่น ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานะการเงินที่ไม่มั่นคง ประกอบกับบริษัทฯ มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ไม่มีความพร้อมและความสามารถในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ อีกทั้งบริษัทฯ มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ

อีกทั้งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ถ้าให้บริษัทฯ ประกอบธุรกิจประกันภัย จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน คณะกรรมการ คปภ. ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 วันที่ 8 ตุลาคม 2564 จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อ รมว.คลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บมจ. เอเชียประกันภัย 1950

  1. รมว.คลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคง ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของบริษัทฯ ได้ภายในระยะเวลาที่สมควร ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และหากบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลาง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

  1. เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บมจ. เอเชียประกันภัย 1950 แล้ว คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี
  2. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน หรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว ดังนี้

5.1 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท ดังนี้

(1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย และได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ แล้ว ให้ติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัย จะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด

(2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ ให้ยื่นเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัย จะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

(3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้

– ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัย จะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ

– นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืน ไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

(4) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัย ไปซื้อความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากบมจ. ทิพยประกันภัย ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของ บมจ.ทิพยประกันภัย และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

5.2 จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

5.3 จัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้

(1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 11-15 และ 21-24

(2) สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัย ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้ว ส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้

ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้

– สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)

– สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3

– สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70

ส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ

5.4 สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์

5.5 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 47 คู่สาย เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย ในระยะถัดไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทฯ ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ

“การดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ตั้งแต่ให้บริษัทฯ หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราวตามมาตรา 52 พนักงานเจ้าหน้าที่ของ คปภ. ที่เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัทฯ เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย และเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ได้ และบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแล โดยใช้เงินกองทุนฯ เยียวยาผู้เอาประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

พร้อมระบุว่า รมว.คลัง ได้สั่งการให้ดูแลประชาชนให้เต็มที่ โดยหลังจากเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว กองทุนประกันวินาศภัยจะรับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันกับบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน โดยโอนให้กับบริษัทประกันภัยแห่งอื่นรับผิดชอบต่อ

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้น เพื่อรองรับผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์ความคุ้มครองโควิด-19 ต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองดูแล โดยสำนักงาน คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย ช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่

Back to top button