LEO จ่ออัพเป้ารายได้ปีนี้ใหม่ เล็งลงทุน Non-Logistic หนุนธุรกิจโต
LEO จ่ออัพเป้ารายได้ปีนี้ใหม่ หลังคาดทะลุเป้ายอดเดิมที่วางไว้ 2.10 - 2.20 พันลบ. เดินหน้า M&A ต่อเนื่อง พร้อมมองหาธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Logistic ที่สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจหลักได้
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพิจารณาปรับเป้ารายได้ปีนี้อีกครั้งจากที่เคยตั้งไว้ว่าจะเติบโตราว 80 – 85% หรือมาที่ 2.10 – 2.20พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ในขณะนี้น่าจะทะลุเป้าเดิมไปแล้ว และสำหรับปี 2565 บริษัทตั้งเป้าว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องราว 20 – 25% จากปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลดีต่อทุกธุรกิจของบริษัททั้งช่องทาง Sea Freight, Air Freight, Integrated Logistics Services และ Self Storage & Container Depot
“ช่องทางรายได้จาก Sea Freight คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักของเราราว 82% ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นก็เป็นผลดีต่อเรา เช่น ช่วงโปรโมชั่น 11.11 หรือ 12.12 ร้านค้าต่างๆ ก็ต้องสั่งสินค้าจำนวนมากเพื่อตุนของให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อ หรืออย่างอินเดียและอินโดนีเซียที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาปกติแล้ว การอุปโภคบริโภคเริ่มกลับมา ทำให้ความต้องการตู้ในการนำเข้าหรือส่งออกมีมากขึ้น” นายเกตติวิทย์ กล่าว
สำหรับแผนงานในไตรมาส 4/2564 บริษัทวางแผนเปิด Self Storage แห่งที่ 2 ที่เยาวราช และลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่ 2 (Container Depot) อีกด้วย นอกจากนั้นบริษัทยังเดินหน้าเจรจาซื้อกิจการ (M&A) อีกหลายราย ทั้ง M&A กับบริษัทด้าน Air Freight คาดว่าจะปิดดีลได้ในเดือน ธ.ค.นี้ และยังมีบริษัทด้านโลจิสติกส์อีก 1 – 2 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2565
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองหาธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Logistic ด้วยเช่นกัน แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจหลักได้
ส่วนความร่วมมือกับ China Post Group ในการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME หรือ E-Commerce มีอัตราค่าขนส่งที่ต่ำลง โดยให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปัจจุบันให้บริการจำนวน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกำลังพิจารณาเพิ่มเป็น 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตามจำนวนสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ยังจับมือกับไปรษณีย์ไทยเพื่อพัฒนาบริการขนส่ง จัดเก็บ และกระจายสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมไปถึงพัฒนาการขนส่งและกระจายวัคซีนด้วย นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนาบริการสำหรับตลาดและลูกค้าในกลุ่ม E-Commerce/Social Commerce และร่วมพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจให้กับทั้งสองฝ่าย
ด้านการจัดตั้งบริษัท Cardinal Maritime (Thailand) ซึ่งถือหุ้น 51% ร่วมกับ Cardinal UK ที่เริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะเพิ่มจำนวนตู้ในการส่งออกและนำเข้าจากประเทศไทยได้อย่างน้อย 100% หรือมีปริมาณตู้เป็น 4,000 ตู้/ปี โดยจะยิ่งเห็นรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2565
“โอกาสในการขยายธุรกิจของเรายังมีมหาศาล เรายังมีมุมมองเป็นบวกกับธุรกิจโลจิสติกส์ เราเชื่อว่าธุรกิจนี้จะยังอยู่ควบคู่กับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของมนุษย์ต่อไป อย่างในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ธุรกิจโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการส่งมองสินค้า ทำให้เรายังเห็นโอกาสในการเติบโตอีกมาก นอกจากนี้เราก็ยังมองหาธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Logistic ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทอีกทางหนึ่ง” นายเกตติวิทย์ กล่าว