ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข กม. “เดินเรือในน่านน้ำไทย” ตามหลักมาตรฐานสากล
ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยกำหนดมาตรการในการควบคุมการทิ้งขยะจากเรือ-แท่นเรือให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทย
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล กำหนดมาตรการในการควบคุมการทิ้งขยะจากเรือและแท่นให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ.1973 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลการทิ้งขยะลงในทะเลเทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ จะส่งผลให้นานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ รวมทั้งเรือจากประเทศไทยย่อมได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีมาตรฐานเพียงพอในการป้องกันการทิ้งหรือการรั่วไหลของขยะจากเรือ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้การพาณิชยนาวีของไทยมีการพัฒนาและสามารถขยายกิจการได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ปรับปรุงแก้ไข เช่น การกำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขในการทิ้งขยะ โดยห้ามไม่ให้มีการทิ้งขยะจากเรือหรือแท่นลงในทะเล เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยได้กำหนดประเภทของขยะที่สามารถทิ้งลงทะเลได้ เช่น การทิ้งอาหารจากเรือลงในทะเลให้กระทำได้ในขณะที่เรืออยู่ระหว่างทางและต้องอยู่ห่างไกลจากเส้นฐาน (Baseline) ออกไปในทะเลในระยะพื้นที่ตามที่กำหนด ส่วนการทิ้งอาหารจากแท่น รวมถึงเรือที่อยู่ติดกับแท่นเรือหรืออยู่ใกล้กับแท่นในระยะไม่เกิน 500 เมตร ให้ทิ้งได้ในระยะไม่น้อยกว่า 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป แต่ต้องทิ้งผ่านเครื่องบดปั่นและผ่านตะแกรงที่มีช่องขนาดไม่เกิน 25 มิลลิเมตร
อย่างไรก็ตามได้กำหนดข้อยกเว้นในการทิ้งขยะเมื่อมีเหตุจำเป็นได้แก่ การทิ้งเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือหรือแท่น หรือผู้ที่อยู่บนเรือหรือแท่น หรือเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ และยังได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ และนายเรือ เจ้าของแท่น ผู้ครอบครองแท่น และผู้จัดการแท่นไว้ด้วย เช่น จัดทำป้ายประกาศเพื่ออธิบายข้อกำหนดเกี่ยวกับการทิ้งขยะ แผนจัดการขยะ โดยหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ เจ้าท่าจะใช้อำนาจในการตรวจสอบเรือหรือแท่นได้