BAY เผย กรอบค่าเงินบาท 33-33.60 บ. สัปดาห์นี้! ชี้จับตา GDP สหรัฐ-นับถอยหลังเปิดปท.

BAY เผย กรอบค่าเงินบาท 33-33.60 บาท/ดอลลาร์ สัปดาห์นี้ หลังคลายกังวลภาวะเศรษฐกิจจีน ขณะที่จับตา GDP สหรัฐ-นับถอยหลังเปิดปท.คาดการท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (25 ตุลาคม 2564) กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ว่า ในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.37 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.24-33.50 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดคลายกังวลชั่วคราวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีน และคาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยรายงานภาวะเศรษฐกิจของเฟดระบุว่าราคาและค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้นยังคงเป็นบวก แต่ในบางพื้นที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษชะลอตัวลงในเดือนกันยายน แต่ตลาดยังมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยก่อนหน้านี้ผู้ว่าการบีโออีส่งสัญญาณว่าเตรียมที่จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่เงินหยวนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน หลังจากธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางของ USD/CNY ต่ำกว่า 6.4 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,738 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 1,474 ล้านบาท

โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 และค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนกันยายนของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะมุ่งเน้นการสื่อสารกับตลาดว่าจะยังไม่มีการปรับนโยบายในอนาคตอันใกล้ หลังจากนักลงทุนอาจคาดการณ์จังหวะเวลาสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป แม้ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อีซีบีหลายรายออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อาจอยู่สูงนานกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อในระยะยาวจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของอีซีบีซึ่งยังไม่มีความจำเป็นเร่งขึ้นดอกเบี้ยภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการดำเนินนโยบาย โดยในกลุ่มเศรษฐกิจหลักคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และอีซีบีจะเป็นรายท้ายๆที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ตลาดเริ่มพูดถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) มากขึ้นซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในระยะนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนกันยายนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกเดือนกันยายนเติบโต 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดนำเข้าขยายตัว 30.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 0.61 พันล้านดอลลาร์ ส่วนแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงกว้างและการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว คาดว่าจะช่วยหนุน Sentiment การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป

 

Back to top button