FSSIA ชู 7 หุ้น “ท็อปพิค” เดือน พ.ย. ดีมานด์ฟื้น เล็งศก.ไทยปี 65 เปิดปท.-ท่องเที่ยวหนุน

FSSIA ชู 7 หุ้น "ท็อปพิค" เดือน พ.ย. รับดีมานด์ฟื้น ได้แก่ AMATA, BEM, SAWAD, MICRO, HMPRO, AOT, AAV ชี้เดือนนี้ดัชนีแกว่งกรอบ 1,615-1,670 จุด เล็งเศรษฐกิจไทยปี 65 เติบโตจากการบริโภคไตรมาส 4 ฟื้นหลังการเปิดประเทศให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวกลับมา


นายทรงกลด วงศ์ไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และนายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ ถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อสูง (Stagflation) รวมถึงทิศทางการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน จนไปถึงภาพรวมปี 2565

โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเผชิญกับความเสี่ยงด้าน Stagflation ท่ามกลางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก และดิสรัปชั่นของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 อย่างไรก็ตามทางฝ่ายวิจัยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เบา และการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2565 จะช่วยให้ภาคเอกชนและภาครัฐมีการเติบโตที่ดีเมื่อมีการเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวกลับมา

นอกจากนั้นการส่งออกของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทางฝ่ายวิจัยเชื่อว่า 3 ปัจจัยหลักเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตได้ในปี 2565 คือการลงทุนจากภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น (15.90% ของ GDP ในครึ่งปีแรก 2564) ตามด้วยการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน (18.80% ของ GDP ในครึ่งปีแรก 2564) ผลักดันโดยการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในเขต EEC และการเติบโตของการบริโภคในประเทศ (57.20% ของ GDP ในครึ่งปีแรก 2564)

สำหรับการลงทุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยเริ่มต้นของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายงาน และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน รวมทั้ง EVs, Smart Cities, พลังงานหมุนเวียน และระบบโครงข่ายการสื่อสาร 5G เพื่อพลิกโฉมประเทศเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และระบบนิเวศแบบดิจิทัล นอกจากนั้นอัตราเพดานหนี้ที่ปรับสูงขึ้นจาก 60% เป็น 70% ทำให้คาดว่าการลงทุนของภาครัฐในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 2 ล้านล้านบาท และจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้กว่า 3% ในปี 2565 – 2566

ทั้งนี้เศรษฐกิจในปี 2565 ยังจะมีแรงผลักดันอย่างมีนัยยะสำคัญจากการบริโภคในประเทศซึ่งเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 หลังการเปิดประเทศให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของอัตราการติดเชื้อโควิด-19 จากการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรในประเทศ โดยทางฝ่ายวิจัยมองว่ามี 4 ปัจจัยในการผลักดันการบริโภคในประเทศ คือ (1) การเปิดประเทศ (2) อัตราการว่างงานต่ำ (3) มาตรการผลักดันเศรษฐกิจของภาครัฐ และ (4) การเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยยังคงมุมมอง Overweight ต่อตลาดหุ้นไทยสำหรับปลายปีนี้ โดยคงเป้าไว้ที่ 1,700 จุด บนพื้นฐาน ค่า P/E ปี 2564 ที่ 19.20 เท่า โดยได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนมาก (2) มีเที่ยวบินในประเทศเพิ่มขึ้น และ (3) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเปิดชายแดน และมาตรการควบคุมที่ผ่อนคลาย

อนึ่งในเดือนพ.ย.นี้ ทางฝ่ายวิจัยคาดว่า SET Index จะแกว่งตัวในกรอบ 1,615 – 1,670 จุด และเน้นธีมวัฏจกรการลงทุน และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการบริโภค โดยเป็นหุ้นในกลุ่มอสังหาฯ, วัสดุก่อสร้าง, พาณิชย์, ยานยนต์, ท่องเที่ยว และไฟแนนซ์ ทั้งนี้ให้หุ้นท็อปพิค ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ราคาเป้าหมาย 9.90 บาท,

บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ราคาเป้าหมาย 86.00 บาท, บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ราคาเป้าหมาย 10.70 บาท, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ราคาเป้าหมาย 80 บาท และ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ราคาเป้าหมาย 3.50 บาท

Back to top button