OSP กางแผนปี 65 ทุ่ม 1.6 พันลบ. ลุยขยายไลน์ผลิตเครื่องดื่ม-รง.ขวดแก้ว “ไทย-เมียนมา”
OSP กางแผนปี 65 ทุ่ม 1.6 พันลบ. ลุยขยายไลน์ผลิตเครื่องดื่ม-รง.ขวดแก้ว “ไทย-เมียนมา” เล็งออกออกผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชาใน H1/65 พร้อมวางเป้าลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง 5 พันลบ.ใน 5-7 ปี
นางพรธิดา บุญสา ประธานฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทวางงบลงทุนในปี 65 จำนวน 1,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และอีกส่วนจะใช้เพื่อขยายกำลังการผลิต โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้เพิ่งขยายไลน์การผลิตเครื่องดื่มและโรงงานผลิตขวดแก้วทั้งในไทยและเมียนมา
ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 65 บริษัทคาดหวังเติบโต double digit ทั้งรายได้และกำไร โดยบริษัทขอรอประเมินการเปิดประเทที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. และทั้งไตรมาส 4/64 ว่าจะเป็นอย่างไร หากยอดขายปรับขึ้นก็คาดว่ายอดขายในปี 65 น่าจะเติบโตต่อเนื่องตามด้วย โดยจะเป็นการเติบโตด้วยกิจการตัวเอง และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) รวมทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรลักษณะ B2B
นางพรธิดา กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชง-กัญชา ที่จะมีทั้งเครื่องดื่ม และ Personal Care ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 แต่ยังต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะอนุมัติได้เมื่อไร โดยปัจจุบันมี 4 โครงการที่ Active
นอกจากนี้ บริษัทได้วางเป้าหมายลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง 5 พันล้านบาท ภายใน 5-7 ปี โดยพิจารณาต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) การปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต เทคโนโลยี บุคคลากร และสินทรัพย์
สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มในไทย ยังคงเน้น Energy Drink น้ำสมุนไพร Functional Drink รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชงและกัญชา ขณะที่ธุรกิจในเมียนมาคาดว่าปีนี้จะเติบโต double digit และเห็นโอกาสเติบโตในระยะกลางและระยะยาว เพราะมีประชากรอายุน้อยค่อนข้างมาก เป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่ออาเซียน เพียงแต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องรัฐประหาร การแพร่ระบาดโควิด-19 และค่าเงินจ๊าด
ด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทรายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 580 ล้านบาท ลดลง 37.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 9.5% ลดลง 4.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยบริษัทมีการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ดีแต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากรายได้้ที่ชะลอตัวอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนอย่างมากได้ทั้งหมดหากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนกำไรจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 708 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 11.6%
ส่วนกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนปี 2564 อยู่ที่ 2,404 ล ล้านบาท ลดลง 9.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12.1% ลดลง 1.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรจากการดำเนินงานสำหรับ 9 เดือนอยู่ที่ 2,656 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 13.4%