ตลท. เพิ่มเกณฑ์สกัดหุ้นร้อน คัดเข้า “SET50-SET100” มีผลปี 65
ตลท. เพิ่มเกณฑ์สกัดหุ้นร้อน คัด “SET50-SET100” โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกรอบปลายปี 64 ก่อนประกาศผลการคัดเลือกในธ.ค.64 และใช้ในการคำนวณดัชนีช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.65 เดินหน้าศึกษาเกณฑ์การปรับปรุง “ฟรีโฟลต” เพิ่ม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงดัชนี ทั้งการปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นใน Tradable Index โดยนำข้อมูลหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Surveillance measure list) ของ ตลท. มาประกอบการพิจารณา และ การปรับการคำนวณดัชนี เป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted
ดังนั้น ตลท.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี ในด้านเกณฑ์สภาพคล่องตามหลักการข้างต้น โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีรอบปลายปี 64 ซึ่งจะมีการประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือน ธ.ค.64 และใช้ในการคำนวณดัชนีในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.65 เป็นต้นไป
สำหรับ การปรับการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted ตลท.จะศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยามในการกำหนด Free Float และ Strategic partner, ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี, กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดก่อนแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ลงทุนทราบเป็นการทั่วไป
อนึ่ง ในปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมด จะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Value Trade , Turnoverratio , Free Float เป็นต้น และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quality) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือ มีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูงและอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ (Investable) ได้ดี ดังนั้น ตลท.จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
รวมถึงลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ต่ำ โดยศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณ (Quantitative) และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quality) ได้แก่ ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index และปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted
โดยหลังจากนั้น ตลท.เปิดรับฟังความเห็น จากผู้ตอบแบบสอบถาม 118 ราย ประกอบด้วย ผู้ลงทุนทั่วไป บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ที่ปรึกษาทางการเงิน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ พบว่า
- การปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index ผู้ให้ความเห็นส่วนมากเห็นด้วยในหลักการที่ตลท.เสนอ โดยให้เหตุผลว่าดัชนีที่เป็น Benchmark ที่ใช้วัดผลการลงทุนได้ดีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้จริง การปรับปรุงเกณฑ์อาจช่วยลดความปัญหาในเรื่องของ investability และสามารถ tracking ได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นบางรายที่เห็นว่าแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์เสนออาจไม่สามารถแก้ไขหรือลดความผันผวนของดัชนีได้ และการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้ดัชนี SET 50 และ SET100 ไม่เป็นตัวแทนของหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) อันดับต้น ๆ อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ยังมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้
– ควรวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนหุ้นเข้าออกมากหรือบ่อยครั้งเกินไป
– การพิจารณากำหนดเกณฑ์สภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อาจควรพิจารณาให้มีความละเอียดมากขึ้นกว่ารายเดือน
– ควรพิจารณามาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆ เช่น กรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือกรณีหุ้นบริษัทที่มีผลประกอบการเป็นวัฎจักร หรือ ผลประกอบการ turnaround เป็นต้น
– อาจเพิ่มหลักเกณฑ์ Buffer rule เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและช่วยลดการปรับเปลี่ยนหุ้นในจำนวนมาก
– การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ควรแจ้งล่วงหน้าก่อนการเริ่มใช้ เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว
- ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free float Adjusted Market Capitalization Weighted ผู้ให้ความเห็นส่วนมากเห็นด้วยในหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลว่าการใช้วิธีการคำนวณดัชนีแบบ Free float Adjusted Market Capitalization Weighted สามารถสะท้อนภาพ Investable universe ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ร่วมตลาดและผู้ลงทุนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยให้กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นเหล่านั้นได้จริง ลดความผันผวนของดัชนีจากสภาพคล่องของหุ้นที่ผิดปกติ และเป็นแนวทางเดียวกับผู้จัดทำดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ เช่น MSCI และ FTSE
ขณะที่ผู้แสดงความคิดเห็นบางราย เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาหรือลดความผัวผวนของดัชนีได้ และจะส่งผลกระทบด้านลบต่อมูลค่าหุ้นและต่อผู้ลงทุน โดยเห็นว่าเกณฑ์ปัจจุบันทั้งในเรื่องของเกณฑ์การกำหนดสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ขั้นต่ำ และการคัดกรองจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนของหลักทรัพย์ (Turnover ratio) มีความเหมาะสมอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้น้ำหนักและการคำนวณดัชนี
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
– ควรศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic Partner เพื่อให้สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) สามารถน มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น
โดยอาจเสนอให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เช่น ควรปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน และควรเปิดเผยข้อมูล Free Float ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี, ควรตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นผ่าน Nominees ของ Strategic partner เพื่อให้ได้ข้อมูล Free Float ที่ถูกต้อง, ควรพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนเกินร้อยละ 2 และไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 2 ปี ให้เป็น Strategic partner, ควรมีการกำหนดเพดาน (cap) สำหรับการปรับเพิ่มหรือลดนน้ำหนักการลงทุนจากส่วนของ Free float adjusted เพื่อลดผลกระทบจากการลงทุน
– ควรให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ต่ำ
– ควรใช้ Free float Adjusted Market Capitalization Weighted กับดัชนี Tradable Index เช่น ดัชนี SET50 SET100 เท่านั้น ไม่ควรใช้กับ Composite Index เช่น ดัชนี SET
– ควรจัดทำเป็นดัชนีใหม่มากกว่าการปรับแก้เกณฑ์ดัชนีในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน
– ควรมีการจัดทำข้อมูลผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับดัชนีเพื่อแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงประกาศล่วงหน้าก่อนมีผลเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว และทยอยปรับเป็น 2-3 ช่วงเพื่อลดผลกระทบ