CHO เซ็นเอ็มโอยู AEM ลุยธุรกิจมอเตอร์ EV เต็มสูบ

CHO เซ็น MOU ผนึก AEM ลุยธุรกิจ EV แบบยั่งยืน และนำมอเตอร์ชนิดดังกล่าวเข้ามาใช้กับรถไฟฟ้า E-trucks ของบริษัทฯ เพื่อผลิตป้อนให้กับลูกค้า รวมถึงใช้กับ EV Taxi ของ ASIA CAB ผู้ผลิตรถลอนดอนแท็กซี่ในนาม CABB Taxi พร้อมศึกษาความเป็นไปได้สร้างฐานการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าในประเทศไทย


นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยว่า จากการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ “COP26” ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีประเทศสมาชิกจำนวน 197 ประเทศ

โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ถือเป็นการประชุมที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ ยิ่งกว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพราะหากอุณหภูมิของโลกยังสูงขึ้นอย่างปัจจุบัน จะไม่มีใครสามารถหาที่อยู่อาศัยในโลกนี้ได้  ดังนั้นผู้นำของนานาประเทศที่เข้าประชุม จึงประกาศและให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกร่วมกันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2050 สำหรับประเทศไทยนั้นประกาศเป้าหมายเป็นประเทศมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

“จากแผน CHO Tech Riders 2030 (Technology Riders) ของบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ได้มุ่งเน้นการก้าวสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และในเวที COP 26 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. (เวลาในประเทศอังกฤษ) ทางบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Advanced Electric Machines Ltd (AEM)  ซึ่งเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แม่เหล็กและแร่หายาก (Rare Earth) กล่าวคือ มอเตอร์ไฟฟ้าแม่เหล็กที่ผลิตทั่วไปในปัจจุบันนั้นจำเป็นต้องใช้แร่หายาก (Rare Earth) ในกระบวนการผลิต ซึ่งได้จากการถลุงและต้องทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล หรือกล่าวได้ว่า ยานยนต์มอเตอร์ไฟฟ้าแม่เหล็ก มิใช่ผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมของโลกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายสุรเดช กล่าว

ทั้งนี้ CHO ร่วมกับ AEM จะนำนวัตกรรมการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แม่เหล็กและแร่หายาก (Rare Earth) ซึ่งเป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ประเทศอังกฤษ ที่ได้มีผลิตออกเป็นสินค้าเรียบร้อยแล้ว และนำมอเตอร์ชนิดดังกล่าวเข้ามาใช้กับรถไฟฟ้า E-trucks ของบริษัทฯ เพื่อผลิตป้อนให้กับลูกค้า รวมถึงใช้กับ EV Taxi ของ ASIA CAB ผู้ผลิตรถลอนดอนแท็กซี่ในนาม CABB Taxi

นอกจากนี้ใน MOU ระบุถึงการศึกษาความเป็นไปได้สร้างฐานการผลิตมอเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งมอเตอร์ชนิดนี้ ถือได้ว่าเป็นชนิดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชิ้นส่วนมอเตอร์ทุกชิ้นสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ (Recycle) ได้อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นมอเตอร์เขียว (Green EV Motors) ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในปัจจุบัน

Back to top button