SORKON รายได้ไตรมาส 3 เฉียด 700 ลบ. ลุยเพิ่มช่องทางขาย-ขยายฐานลูกค้าเต็มสูบ

SORKON เตรียมปรับโฉมโมเดลการซื้อขาย-สั่งเดลีเวอรี่ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าและเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด


นายจรัสภล รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (RTE-QSR) บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปีหลังคลายล็อกดาวน์ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อจะค่อย ๆ กลับมา ดังนั้นบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านกลุ่มร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) และช่องทางออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าและเข้ากับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทั้งนี้ธุรกิจร้านอาหาร ทำการเปิดขายได้เพียงช่องทางเดลิเวอรี่เป็นหลักตลอดระยะเวลาช่วงการแพร่ระบาด ประกอบกับการปิดร้านบางสาขา

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมปรับโฉมร้านข้าวขาหมูยูนนาน และร้านแซ่บ คลาสสิค โดยเน้นการขยายสาขาในโมเดลการซื้อกลับบ้านไปรับประทานและการสั่งผ่านเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ อาทิ Grab, Line Man, Food panda และ Robinhood รวมถึงได้ขยายช่องทางออนไลน์ผ่านผู้ให้บริการแอปพลิเคชันชั้นนำ เช่น เว็บไซต์ E-Commerce (shop.sorkon.co.th) และขายผ่านแพลตฟอร์ม Online Market Place อย่าง Shopee เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าของบริษัทฯ มากขึ้นอีกด้วย

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก หลังต้องเผชิญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลานาน หันมาเลือกซื้อสินค้าเพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงการออกนอกบ้าน ส่งผลให้ไตรมาส 3/64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายในกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร ซึ่งมีสัดส่วน 54% ของรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปที่มีสัดส่วนรายได้ 35% ของรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้น 3.6% จากตลาดส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/64 ทำได้ 9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายของสินทรัพย์ชีวภาพ 18 ล้านบาท เนื่องจากราคาตลาดสุกรช่วงปลายเดือนกันยายนลดต่ำลงอย่างมาก

Back to top button