MK เปิดงบ Q3 รายได้เฉียด 790 ลบ. หนุน 9 เดือนแตะ 1.9 พันลบ.
MK เผยรายได้ไตรมาส 3 แตะ 786.26 ลบ. หนุน 9 เดือนแตะ 1,893.58 ลบ. ขณะที่ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้ายังเติบโต พร้อมเดินหน้าลุยธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยงเพื่อเป็นไปตามยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างรายได้
นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) ว่า บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิจำนวน 62.31 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 125.04 ล้านบาท สืบเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้จากการขายและบริการมีจำนวน 786.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.12% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 740.88 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากธุรกิจเพื่อขายที่อยู่อาศัย (Real Estate) มีจำนวน 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.52 ล้านบาท หรือ 8.59% และธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ (Recurring Income) มีจำนวน 122.27 ล้านบาท ลดลง 7.14 ล้านบาท หรือ 5.52% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจาก “บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ได้ขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อโอนเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (กองทรัสต์) ทั้งนี้ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน ซึ่งบริหารงานโดย “บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี ไตรมาสนี้สามารถสร้างอัตราการเช่า (Occupancy rate) ได้สูงกว่า 90% สำหรับภาพรวมการทำงาน 9 เดือนของกลุ่มบริษัทมีรายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,893.58 ล้านบาท
“ไตรมาส 3 กลุ่มบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีเรายังคงดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และด้วยการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานไตรมาสนี้ลดลง 21.84 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน” นายวรสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้จากภาพรวมรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัท เห็นได้ว่ามีรายได้จากการขายและบริการที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 45.38 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 6.12% โดยในส่วนรายได้ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.51 ล้านบาท หรือ 8.59%, ธุรกิจให้เช่าและบริการ มีจำนวน 88.28 ล้านบาท ลดลง 1.71 ล้านบาท หรือ 1.89%, ธุรกิจสนามกอล์ฟ และธุรกิจบริหารอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 11.71 ล้านบาท ลดลง 16.31 ล้านบาท หรือ 58.21% เนื่องจากมาตรการปิดสถานที่ให้บริการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ส่งผลให้สนามกอล์ฟต้องหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2564 เป็นระยะเวลา 40 วัน โดยปัจจุบันได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติตามมาตรการของภาครัฐฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเหล่านักกอล์ฟ
สำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพโครงการรักษ (RAKxa) ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นกันเพราะเป็นสถานประกอบการที่เข้าข่าย ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น World Class medical wellness destination “รักษ” ได้มีการปรับกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศ
โดยมีการทำงานร่วมกับภาครัฐส่วนต่างประเทศ รวมถึงมีการติดต่อทำสัญญาการขายกับตัวแทนขายต่างประเทศมากขึ้น เร่งทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีการเสนอขายแพคเก็จในราคาพิเศษการใช้สื่อดิจิทัล การเพิ่มแผนฝึกอบรมพนักงานทุกจุด รวมถึงเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายอีกด้วย
“สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าภาพรวมธุรกิจน่าจะกลับมาสดใส ปัจจัยจากการที่ภาครัฐฯ ได้ออกมาประกาศนโยบายผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ พร้อมทั้งมีการเปิดประเทศ นับเป็นการเรียกความเชื่อมั่นทั้งจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งค่อนข้างเป็นผลบวกกับกลุ่มบริษัท เนื่องด้วยมีธุรกิจที่สามารถรองรับต่อการเติบโตของประเทศไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า รวมถึงธุรกิจบริการด้านสุขภาพ
อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการผ่อนคลายเกี่ยวกับมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) เป็นการชั่วคราวจนถึงปลายปี 2565 ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาอีกครั้ง และเพื่อรองรับต่อมาตรการปลดล็อกดังกล่าว ในฝั่งการขายที่อยู่อาศัยเรามีการเตรียมความพร้อมแบบครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายสินค้า โปรโมชั่นต่างๆ การให้คำปรึกษาการขอบริการสินเชื่อ รวมไปถึงการให้บริการหลังการขายควบคู่กับการสร้างความมั่นใจในมาตรการเข้าเยี่ยมชมโครงการอย่างปลอดภัย” นายวรสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างรายได้ที่วางไว้ (Sustainability Development Roadmap) และเพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน บริษัทยังคงมุ่งมั่นมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมาต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่กลุ่มบริษัทดำเนินการอยู่โดยเฉพาะในฝั่งธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการหรือ Recurring Income ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ารวมถึงธุรกิจเพื่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2565