JMT แจงยังไม่สรุปเป็นทางการ ตั้งบริษัทร่วม KBANK ยกเข่งบริหารหนี้เสีย

JMT แจงยังไม่สรุปเป็นทางการ ตั้งบริษัทร่วม KBANK ยกเข่งบริหารหนี้เสีย เพียงยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับพันธมิตร แต่ยังมิได้มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดหากมีความคืบหน้า บริษัทจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การรายงานสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ


บริษัท เจเอ็มทีเน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า จากกรณีตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อสิ่งพิมพ์วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นั้น ขอชี้แจ้งว่าบริษัทยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับพันธมิตร แต่ยังมิได้มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดหากมีความคืบหน้า บริษัทจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การรายงานสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากกรณีประเด็นข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ได้เข้าเจรจากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเพื่อเสนอแนวคิดตั้ง “กิจการร่วมค้า” (Joint Venture) ในการบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC และที่บรรลุข้อตกลงกันแล้วคือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยล่าสุดได้มีการยื่นเรื่องขอจัดตั้ง AMC กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้ว และรอการอนุมัติเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้รูปแบบบริษัทร่วมทุนเป็นลักษณะที่ KBANK เข้ามาร่วมถือหุ้นใน AMC ด้วย โดย JMT จะถือหุ้นใหญ่สัดส่วนระ หว่าง 65-75% และ KBANK สัดส่วนถือหุ้นอยู่ระหว่าง 25-35% โดยจะมีการแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งดีกว่าลักษณะเดิมที่ธนาคารขายหนี้ให้กับ AMC โดยตรง ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ แต่การบริการในรูปแบบร่วมทุนนี้ จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีกำไรเพิ่มขึ้น

“AMC จะซื้อหนี้และรับโอนหนี้จาก KBANK เพื่อนำมาบริหาร มีกำไรเท่าไหร่ก็มาแบ่งกันตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งดีกว่าที่แบงก์จะขายหนี้ออกมาให้เอเอ็มซีเหมือนแต่ก่อน ที่มีส่วนลดค่อนข้างมาก”

ทั้งนี้ KBANK จะได้รับเงินจากการขายหนี้มาก้อนหนึ่งและยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก “กิจการร่วมค้า” ใน AMC ซึ่งกรณีนี้หากแบงก์ถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่าเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ก็อาจต้องขออนุญาตจาก ธปท.ก่อน

ส่วนใบอนุญาตประกอบการบริหารหนี้ เมื่อ JMT ต้องการร่วมทุนกับหลายแบงก์ จะต้องขอใบอนุญาตใหม่ จากแบงก์ชาติ

โดยแหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อการจัดตั้งบริษัทร่วมกับ KBANK  เสร็จสิ้น ทราบมาว่า JMT เตรียมร่วมทุนกับอีก 2 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ช่วงต้นปี 2565 ต่อทันที

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าปัจจุบัน KBANK มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ของตนเองที่ชื่อว่า “บริษัท บริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 โดยเป็น AMC ที่จะคอยรับซื้อหนี้เสียจากแบงก์กสิกรไทย (เท่านั้น) เพื่อมาบริหาร โดยที่ผ่านมา นโยบายของธนาคารฯ เกี่ยวกับเรื่องของหนี้เสียนั้น จะมีทั้งการขายออกไปให้  AMC ภายนอก และขายให้กับบริหารสินทรัพย์เพทาย

“เรื่องของการจัดตั้ง AMC ในรูปแบบ Joint Venture ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนเรื่อง Digital Transformation ของธนาคารกสิกรไทยด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปี 2559 KBANK เคยขายหนี้ด้อยคุณภาพให้กับ JMT ด้วยมูลหนี้กว่า 6.4 พันล้านบาท ปี 2560 ตัดขายหนี้ฯ ให้กับ AMC รายอื่นจำนวน 8.4 พันล้านบาท ปี 2561 ตัดขายหนี้ฯ ออกไปอีก 1.54 หมื่นล้านบาท ปี 2562 ตัดขายหนี้ฯ ออกไป 7.1 พันล้านบาท และปี 2563 ตัดขายหนี้ฯ ออกไปอีกจำนวน 6.8 พันล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลจากงบการเงินล่าสุดของ KBANK ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 พบว่า ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อย มีเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 1.06 แสนล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิจำนวน 32,887 ล้านบาท คิดเป็น 0.82% ของสินเชื่อรวม

แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า AMC ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ หากมีพอร์ตบริหารหนี้ ที่มีมูลค่ามากกว่า 2.5-3 หมื่นล้านบาท จะทำให้ราคาเป้าหมายของ JMT มีอัพไซด์เพิ่มขึ้น หรืออยู่ประมาณ 80 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ให้จับตาหุ้น JMT อาจเป็นม้ามืดเข้าคำนวณดัชนี SET50 รอบครึ่งแรกปี 2565 หากราคาหุ้นขยับขึ้นมาอยู่บริเวณ 58 บาท ช่วงเดือนพ.ย. นี้

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET ระบุว่า ปรับประมาณการกำไรปี 2564-2565 ของ JMT ขึ้นอีกราว 10-20% ทำให้คาดว่าปี 2564 มีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท เติบโต 37% และปี 2565 เพิ่มเป็น 2.4 พันล้านบาท เติบโต 71% และเพื่อสะท้อนความน่าจะเป็นของการเติบโตสูงขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า ปรับราคาเหมาะสมปี 2565 ขึ้น 8% เป็น 62.25 บาทต่อหุ้น

ก่อนหน้านี้นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทได้ตั้งงบลงทุนซื้อหนี้เพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท และปี 2566 ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่ากำไรสุทธิช่วง 3 ปี จากนี้จะเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าจากปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้บริษัทก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ที่มีพอร์ตใหญ่ที่สุดในประเทศได้ภายใน 5 ปี

โดย JMT ได้ระดมทุนกว่า 1.0 หมื่นล้านบาทในปลายปีนี้  เพื่อเพิ่มฐานทุนในการขยายการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มเติม ผลักดันเป็นเบอร์ 1 บริษัทบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในประเทศ

ส่วนข้อมูลในวงการเงินล่าสุด ณ 30 กันยายน 2564 ของ JMT ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีการซื้อหนี้รวม 7,118 ล้านบาท และมีมูลค่าพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพ (Accumulated Outstanding Balance) รวมสะสม ณ สิ้นสุดไตรมาส 3/2564 เท่ากับ 230,997 ล้านบาท เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในด้านพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพของประเทศในด้านหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินทุกแห่งในประเทศไทย

Back to top button