มติรัฐสภา 473 เสียง คว่ำร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน
รัฐสภา ตีตกร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ด้วยเสียง 473 ต่อ 206 งดออกเสียง 6 พบ ส.ว. รับหลักการแค่ 3 คน ‘เนาวรัตน์-มณเฑียร-พิศาล’
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ 17 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ซึ่งมีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อลงมติวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .. ฉบับที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น และประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล ว่าจะรับหรือไม่รับ และ งดออกเสียง โดยใช้เวลารวมกว่า 2 ชม.
โดยล่าสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 473 เสียงต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เนื่องจากคะแนนรับหลักการ น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดทั้งสองสภา หรือ 362 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 723 เสียง และคะแนนส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 83 คน ก็ไม่ถึง จึงไม่ต้องมานับ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีผู้รับหลักการ ทั้งหมด 206 เสียง เป็น ส.ส.จำนวน 203 เสียง เป็น ส.ว.จำนวน 3 เสียง ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายมณเฑียร บุญตัน และ นายพิศาล มาณวพัฒน์ ขณะที่มีผู้ไม่รับหลักการ เป็น ส.ส.จำนวน 249 เสียงส.ว.จำนวน 224 เสียง รวม 473 คะแนน และผู้ที่งดออกเสียง เป็น ส.ส. 3 เสียง เป็น ส.ว. 3 เสียง รวม 6 เสียง
อย่างไรก็ตามสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าสู่การพิจารณานั้น มีอีกชื่อที่เรียกกันว่า “รื้อระบอบประยุทธ์” ซึ่งมีข้อเสนอมุ่งหมายจะจัดการกับประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ถูกมองว่าเป็นการ “สืบทอดอำนาจเผด็จการ” โดยมีข้อเสนอหลักๆ ดังนี้
1.เสนอให้มีการยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง และใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว มีแต่ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
2.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ที่มาจากระบบคัดเลือกของ คสช. พ้นตำแหน่ง และให้มีการคัดเลือกใหม่
3.เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. ยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศ
4.เสนอให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
5.เสนอให้มีกลไกต่อต้านการยึดอำนาจ “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร” รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร ในรัฐธรรมนูญอย่าง ม.279 ในรัฐธรรมนูญ 2560
6.เสนอเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน ด้วยการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ
และ 7.เสนอเพิ่มอำนาจการเข้าชื่อของประชาชน เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คนขึ้นไป “ตรวจสอบตุลาการ” ที่ส่อทุจริตต่อการทำหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายได้