ธปท.จัดสัมมนา ยกระดับศก.ไทย สอดรับกระแสดิจิทัล-ความยั่งยืน
ผู้ว่าธปท. จัดสัมมนาหัวข้อ Looking Beyond Covid-19 ยกระดับเศรษฐกิจไทย สอดรับกระแสดิจิทัล-ความยั่งยืน โดยจะต้องเร่งวากรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของประชาชน เช่น การยกระดับระบบคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานทาง IT ระบบการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของนักลงทุนทั่วโลก
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19” ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะผ่านช่วงยุคทองมา 40 ปีแล้ว โดยยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
ดังนั้น Growth story ของไทยจำเป็นต้องเร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยเศรษฐกิจไทยคงต้องโตแบบไทย เน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง กล่าวคือ ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งทางด้านอาหาร ด้านแหล่งท่องเที่ยว และด้านศิลปหัตถกรรม ที่สามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ
โดยภาพรวมจะต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อยอีก 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth story อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ กระแสของความยั่งยืน (sustainability) โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ภาคส่วนอื่นๆ ทำไม่ได้ประกอบด้วย การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ
รวมทั้ง การเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ (Regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นได้มากขึ้น