กรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” ฉุด 7 หุ้นประกัน Q3 ขาดทุนอ่วมเฉียด 6 พันลบ.
7 หุ้น “ประกันภัย” ไตรมาส 3 ขาดทุนเฉียด 6 พันลบ. ได้แก่ SMK, BKI, TGH, THRE, NKI, TSI, CHARAN หลังมูลค่ายอดเคลมสินไหมของประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้สำรวจผลประกอบการงวดไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ของบริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 15 บริษัท พบว่ามี 7 บริษัท รายงานผลประกอบการขาดทุน ประกอบด้วย SMK, BKI, TGH, THRE, NKI, TSI และ CHARAN ซึ่งรวมขาดทุนสุทธิ 5,604.75 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,168.08 ล้านบาท
โดยสาเหตุหลักของผลขาดทุนเกิดจากยอดจ่ายสินไหมให้แก่ผู้ทำประกันที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างกรมธรรม์ประกันภัยตัวใหม่ “เจอ จ่าย จบ” จากประชาชนมุ่งทำกรมธรรม์ในยามที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง ทำให้การซื้อประกันความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลยังคงเป็นทางเลือกที่หลายคนมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน
ทั้งนี้ผลต่อมาประชาชนตั้งการ์ดไม่อยู่เริ่มมีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากหลักพันต่อวันในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 กลายเป็นหลักหมื่นต่อวันในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มูลค่ายอดเคลมสินไหมของประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2564 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ เฉลี่ยเป็นจำนวน 14,710 คนต่อวัน ในขณะที่มีจำนวนเฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 2,532 คนต่อวัน และไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 241 คนต่อวัน จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันภัยภายในประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยโดยรวม
โดยเฉพาะก่อให้บริษัทประกันภัยที่มีกรมธรรม์โดยทางตรงและทางอ้อม ต้องจ่ายยอดเคลมสินไหมของประกันภัยโควิด-19 อย่าง 7 บริษัทที่ได้รับผลกระทบต่อผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิอ่วม
เช่นกรณี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 3,662.39 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 160.21 ล้านบาท เหตุจากค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 7,552.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,309.89 ล้านบาท หรือ 236.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,242.72 ล้านบาท
ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากที่มีค่าสินไหมทดแทนในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 6,815.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,265.36 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 339.63%) โดยแยกเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 812.78 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดอยู่ที่ 6,002.91 ล้านบาท เป็นผลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในไตรมาสเดียวกันปีก่อน
โดยจากการรับประกันภัยสำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 มีผลขาดทุนจำนวน 4,991.67 ล้านบาท เป็นผลประกอบการจากการรับประกันภัยโควิดขาดทุนจำนวน 5,827.24 ล้านบาท
บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 885.31 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 761.57 ล้านบาท สาเหตุหลักมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัยจำนวน 1,346.70ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการรับประกันภัยจำนวน 857.30 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,204.00ล้านบาท
โดยหลักมาจากค่าสินไหมทดแทนสุทธิจำนวน 4,397.70 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น2,469.00 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 128 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น
บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 662.17 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.87 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอยู่ที่ 13,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,523 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 240.90% โดยธุรกิจประกันชีวิตมีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย เพิ่มขึ้น 753 ล้านบาท จากการตั้งเงินสำรองประกันชีวิตเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันชีวิตรับ โดยเฉพาะเบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว และมีค่าสินไหมทดแทนมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยมีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย เพิ่มขึ้น 8,770 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นค่าสินไหมทดแทนสุทธิ จำนวน 8,150 ล้านบาท และสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มขึ้นจำนวน 860 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าสินไหม ทดแทนของการประกันโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่
บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 331.35 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 74.30 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทวีจำนวนเพิ่มสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2564 ทำให้มีค่าสินไหมทดแทนสำหรับเบี้ยประกันภัยโดยเฉพาะจากงานประเภท เจอ-จ่าย-จบ เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทจึงพิจารณาตั้งสำรองสำหรับงานเบี้ยประกันภัยประเภท เจอ-จ่าย-จบ และค่าสินไหมทดแทนในส่วนของงานประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับค่า รักษาพยาบาลจากโควิด-19 เพิ่มอีกจำนวน 373 ล้านบาท จากในไตรมาส 2 ปี 2564 ที่บริษัทฯได้ตั้งสำรองไว้แล้ว 157 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทพิจารณาปรับปรุงสมมติฐาน Ultimate Loss ทั้งในส่วนของการตั้งสำรองเผื่อค่าสินไหมทดแทนที่ยังไม่ได้รับรายงาน (IBNR) และสำรองเผื่อค่าสินไหมทดแทนในอนาคตไปจนสิ้นสุดความคุ้มครองตาม กรมธรรม์อีกด้วย เพื่อให้สอดรับกับอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลังจากที่บริษัทได้พิจารณาตั้งสำรองเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อผลประกอบการของบริษัท ในอนาคตจะลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญ
บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ NKI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 28.66 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 40.43 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุเกิดจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวม 756.34 ล้านบาท เมื่อจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 659.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97.11 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.73
โดยผลจากค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยก่อนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 673.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.18 จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทน 96.96 ล้านบาท รวมถึงจากการลดลงของค่าบำเหน็จนายหน้า 3.24 ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอื่น 4.92 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 82.56 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.30 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.18
บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือTSI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 21.16 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 23.42 ล้านบาท ซึ่งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ที่ลดลง จากการชะลอตัวของ ตลาด อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโดยรวม
รวมทั้งค่าบำเหน็จจ่ายเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับที่ประมาณร้อยละ ค่าสินไหมทดแทนก่อนการรับประกันภัยต่อเพิ่มขึ้นจาก 85.90 ล้านบาท เป็น 106.30 ล้านบาท อัตราค่าสินไหมทดแทนก่อนการประกันต่อสูงขึ้นจากร้อยละ 77 เป็นร้อยละ 126 จากสินไหมทดแทนประเภทประกันความเสี่ยงทุกประเภทจำนวน 17.1 ล้านบาท
บริษัท จรัญประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ CHARAN รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 13.72 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 18.29 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุเกิดจากจากบริษัทตั้งเงินสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้น 99.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้น 99.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 242.38 จากปีก่อน