สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 พ.ย. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 พ.ย. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นกว่า 2% ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อย่างไรก็ดี การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มเทคโนโลยี และเป็นปัจจัยฉุดดัชนี Nasdaq ปิดในแดนลบ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,813.80 จุด เพิ่มขึ้น 194.55 จุด หรือ +0.55%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,690.70 จุด เพิ่มขึ้น 7.76 จุด หรือ +0.17% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,775.14 จุด ลดลง 79.62 จุด หรือ -0.50%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงในวันอังคาร (23 พ.ย.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และเป็นวันที่ตลาดร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 479.25 จุด ร่วงลง 6.21 จุด หรือ -1.28%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,044.62 จุด ลดลง 60.38 จุด หรือ -0.85%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,937.00 จุด ลดลง 178.69 จุดหรือ -1.11% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,266.69 จุด เพิ่มขึ้น 11.23 จุด หรือ +0.15%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (23 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในยุโรป
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,266.69 จุด เพิ่มขึ้น 11.23 จุด หรือ +0.15%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจระงับแผนเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากที่สหรัฐและพันธมิตรประกาศระบายน้ำมันออกจากคลังสำรอง
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.75 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 78.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 2.61 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 82.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.) โดยราคาทองดิ่งหลุดจากระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,800 ดอลลาร์ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการที่นายเจอโรม พาวเวล ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2 จะส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 22.5 ดอลลาร์ หรือ 1.25% ปิดที่ 1,783.8 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 86.2 เซนต์ หรือ 3.55% ปิดที่ 23.435 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 50.9 ดอลลาร์ หรือ 5.01% ปิดที่ 964.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 100.30 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 1,850.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.) หลังจากไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐชะลอตัวลง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.06% แตะที่ 96.4841 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2682 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2697 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.06 เยน จากระดับ 114.94 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9332 ฟรังก์ จากระดับ 0.9331 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1250 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1233 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3381 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3385 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7223 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7225 ดอลลาร์สหรัฐ