ครม.เคาะ คำสั่ง “ตู่” พบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” ล็อกดาวน์ทันที!
ครม.เคาะ คำสั่ง “ตู่” พบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” ล็อกดาวน์ทันที! คุมเข้มช่องทางธรรมชาติ-คาดโทษหากปล่อยเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย พร้อมกลับไปใช้การตรวจโดวิดด้วยวิธี RT-PCR ตามเดิม หลังเตรียมยกเลิกการตรวจ 16 ธ.ค.นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการหารือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ “โอไมครอน” ว่า วันนี้(30 พ.ย.64) ที่ประชุมครม.สั่งการให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโอไมครอนอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงสาธารณะสุขจะประเมินมาตรการการเปิดประเทศอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขและรักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โดยทางปฏิบัติยังไม่ได้ใช้มาตรการตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) สรุปให้ยกเลิกการใช้วิธีตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยออกมติ ครม.เพื่อยกเลิกมติ ศบค.ดังกล่าว ดังนั้นจากนี้ต่อไปให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตามเดิม
“รอจนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง หรือ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โอไมครอนมีผลในการกระจายเชื้อได้เร็วหรือมากกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าหรือไม่ หรือ คนที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงในกลุ่มอายุเท่าไหร่ที่มีโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดโอไมครอน ซึ่งขณะนี้ข้อมูลยังไม่ 100 % เพียงแต่มีความกังวล”
นายสาธิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หนามของโอไมครอนที่มีจำนวนมากขึ้น มีข้อสันนิฐานว่า น่ากังวล แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก และไม่ประมาทที่จะติดตาม และตรวจเชื้ออย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งทางอากาศ ส่วนช่องทางธรรมชาติที่เป็นช่องทางบก หรือ ช่องทางเรือ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการฝ่ายความมั่นคงไปแล้วให้เข้มข้นและคาดโทษ หากมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย
“มติที่ให้กลับไปใช้การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ไม่ต้องผ่านศบค. ให้ใช้มติครม.แก้ไข ซึ่งในทางปฏิบัติยังตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อยู่แล้ว เพียงแต่ยกเลิกมติ ศบค.ที่ให้ยกเลิกการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564”
นายสาธิตกล่าวว่า โดยหลักการได้ติดตามการระบาดในหลายประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นต้องตรวจจับ ทุกการเดินทางเข้าประเทศ และนำผู้ติดเชื้อไปตรวจครั้งที่สอง เพื่อหาสายพันธุ์โอไมครอน หากตรวจจับได้ทำให้รู้ข้อมูลและติดตามได้
“สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือ ถ้ามาช่องทางธรรมชาติ เราไม่รู้ และเข้ามาภายในประเทศ เกิดการแพร่กระจาย และตรวจพบภายหลัง ยากต่อการติดตามหาต้นตอ แต่ถ้าหาต้นตอได้จะสามารถจัดการตามมาตรการที่เตรียมไว้ได้”
นายสาธิตกล่าวว่า ขณะที่คนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศแพร่ระบาดโอไมครอน มีความเสี่ยงเท่ากันกับประเทศที่มีการแพร่กระจาย รวมถึงประเทศไปพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาประเทศนั้นเสี่ยงอันดับรอง แต่กระจายความเสี่ยงตามความชุกของการแพร่ระบาดเชื้อไมโอครอน
นายสาธิตกล่าวว่า สำหรับการเปิดสถานบันเทิงที่จะเลื่อนเปิดเป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 นั้น หากภายในประเทศยังไม่มีข้อมูลว่ามีเชื้อโอไมครอนเข้ามาในประเทศไทย ยังคงกำหนดเดิม แต่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น และปฏิบัติตามมาตรการ DMHHTA เป็นหลัก เป็นไม้ตายในการป้องกันทุกสายพันธุ์ได้ 80-90 % หากฉีกวัคซีนครบโดสจะป้องกันได้มากขึ้น
“ขณะนี้เราไม่สามารถหายาหรือวัคซีนไปดักหน้าไวรัสกลายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องคงมาตรการการป้องกันด้านสาธารณสุขไปก่อน ส่วนเรื่องติดตาม ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจริง ๆ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมใกล้เข้ามา ก็จะมีการทบทวนมาตรการปิดต่อไป ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนไทยจะล็อกดาวน์ประเทศทันที เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและต้องตัดสินใจเร็วที่สุด โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการศบค.”
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมติ ศบค. กรณีให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เช่นเดิม ว่า ใช่ เนื่องจากเราต้องให้ความระมัดระวัง จึงต้องแก้ไขเล็กน้อยเพราะสถานการณ์โอไมครอน ระบาดอยู่ในขณะนี้ จากเดิมที่จะให้ตรวจ ATK ตอนนี้ก็ให้กลับมาตรวจแบบRT-PCRใหม่อีก ก็ต้องเข้าใจ ต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ โดยให้เริ่มทันทีในตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“ขอให้ทุกคนเข้าใจเพราะต้องระมัดระวัง โดยการแก้ไขระเบียบนี้ก็จะเริ่มทันทีตั้งแต่บัดนี้ที่มีมติในที่ประชุมออกไป”
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนานยกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายไปหลายประเทศว่า เป็นเรื่องปกติของโรคระบาด เรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสเป้นเรื่องของสังคมโลกต้องพบการแพร่ระบาด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขติดตามการกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ โดยมีการตรวจผู้ติดเชื้อสัปดาห์ละ 4-5 พันคนอยู่แล้ว
รัฐบาลได้สั่งการให้ติดตามตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน คงมาตรการเข้มข้นสำหรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศ และเพิ่มการเดินทางทางบก และทางเรือ จะลงโทษเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลยให้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
และมีการติดตามข้อมูลสายพันธุ์โอไมครอน ว่ามีคุณสมบัติการแพร่กระจายเชื้อรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า อัลฟา หรือผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากกว่าหรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดความวิตกกังวลกระทบกับเศรษฐกิจ จะสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร นายธนกร กล่าวว่า นายกฯ ชี้แจงว่า เตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการควบคุมป้องกัน การติดตามให้ทันสถานการณ์ เร่งฉีดวัคซีให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะจะช่วยลดอัตราความรุนแรงได้ และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด -19 ทุกสายพันธุ์ได้