เช็คหุ้น “ได้-เสีย” ประโยชน์ “โอไมครอน” ระบาด!
เปิดโผหุ้น "ได้-เสีย" ประโยชน์ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ "โอไมครอน" ระบาดแล้วหลายประเทศ โบรกฯ มองกระทบตลาดหุ้นไทยระยะสั้น แต่อาจไม่รุนแรงเหมือนรอบก่อน หลังอัตราการฉีดวัคซีนในหลายประเทศปัจจุบันมีมากขึ้นแล้ว
บริษัทหลักทรัพย์เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (29 พ.ย.2564) ว่า จากกรณี WHO เตือนโควิดสายพันธุ์ใหม่ “Omicron” เป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล เมื่อวันที่ 26 พ.ย.21 WHO ได้ประกาศให้โควิด “Omicron” ที่พบให้แอฟริกาใต้จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern: VOC) (เช่นเดียวกับ สายพันธุ์ Alpha Beta Gamma และ Delta) ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าสายพันธุ์ Omicron สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และวัคซีน COVID-19 ในปัจจุบันอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสตัวนี้
อีกทั้งเชื่อว่า Omicron อาจทำให้ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถเกิดติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลง (กลายพันธุ์) ของหนามโปรตีนมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า สูงถึง 3.5 เท่า ขณะที่ความรุนแรงของโรคต้องใช้เวลาประเมินราว 3-4 สัปดาห์ ประกอบกับการตรวจด้วย RT-PCR บางยี่ห้อ ไม่สามารถตรวจจับเชื้อ “Omicron” ได้
โดยปัจจุบันพบเชื้อดังกล่าวแล้วเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกตั้งแต่เริ่มพบเชื้อครั้งแรก 9 พ.ย.2564 นับว่าการระบาดค่อนข้างเร็ว ทำ ให้ทั่วโลกเริ่มมีการระงับการเดินทางจากทวีปแอฟริกาเพื่อสกัดการระบาด ส่วนประเทศไทยได้ประกาศมีข้อกำหนดสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศ ได้แก่ Botswana, Eswatini, Lesotho Malawi, Mozambique, Namibia, South Africa และ Zimbabwe ที่มาถึงไทยวันที่ 28-30 พ.ย.2564 จะต้อง Quarantine 14 วัน และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 จะทำการห้ามผู้โดยสารจากประเทศเหล่านี้เข้าประเทศไทย
ทั้งนี้มองว่า Omicron จะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index จนกว่าเริ่มเห็นทิศทางการแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน โดยมีโอกาสสูงที่ Omicron จะมาระบาดในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ และการ จับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับมาลดลง รวมถึงมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ ระบาด ในขณะที่ล่าสุดบริษัท BioNTech ที่ได้พัฒนาวัคซีนร่วมกับไฟเซอร์ คาดว่าจะสามารถปรับสูตรวัคซีนต้านสายพันธุ์ “Omicron” สำเร็จภายใน 100 วัน
อย่าไรก็ดี SET ปรับตัวลง -4% ใน 6 วันทำการและ -5% ใน 4 เดือน (เม.ย.–ก.ค.2564) ช่วงที่โควิดสายพันธุ์ Delta ระบาด โดย sector ที่ปรับตัวลงมากที่สุด ได้แก่ Bank (-22% ใน 4 เดือน), Finance (-18%), Property (-12%), Petro(-12%), Tourism (-12%), Transport (-12%) ในขณะที่sector ที่ปรับตัวขึ้นได้แก่ Electronic(+67%), Packaging (+35%), Steel (+21%), Healthcare (+10%), Construction Material (+5%)
ดังนั้นหุ้นที่คาดว่าจะ Underperform มากสุด จากผลกระทบ Omicron ได้แก่ MINT, SHR เนื่องจากฐานรายได้หลักอยู่ในยุโรปซึ่งเริ่มพบการแพร่ระบาดมากขึ้น AAV, AOT จากความกังวลที่การระบาดอาจทำให้จำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวได้ช้าลง และ TOP จากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง
สำหรับ Sector ที่คาดว่าจะไม่ underperform มากเหมือนครั้งก่อน ได้แก่ Property เนื่องจากมีปัจจัยบวกจาก ธปท.มีมาตรการผ่อนเกณฑ์ LTV และกำลังซื้อที่ดีขึ้น และ Power คาดผลกระทบจำกัด มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อนจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกระทบน้อยลงและปริมาณการใช้ไฟฟ้าถูกกระทบจำกัด
ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะ Outperform มากสุด จากผลกระทบ “Omicron” ได้แก่ BCH, CHG เนื่องจากได้ประโยชน์จากการรักษาาผู้ป่วยโควิด, SMD จะทำให้มีความต้องการเครื่องมือแพทย์สูงขึ้น หากโควิดมีการระบาดรุนแรง, STGT ได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ถุงมือยางในระดับสูง และ ASIAN จากเงินบาทอ่อนและราคาหุ้น Underperform ช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (29 พ.ย.) มีมุมมองเป็นลบในระยะสั้นต่อข่าวการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดตัวใหม่ (โอมิครอน) แม้ปัจจุบันจะยังไม่ผู้ติดเชื้อดังกล่าวในไทยและปัจจุบันไทยจะฉีดวัคซนีในอัตราที่สูงแล้ว แต่ด้วยเชื้อ ดังกล่าวอาจแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์ Delta หลายเท่าตัวและอาจทำลายประสิทธิภาพวัคซีนที่ใช้อยู่ลดลง จึงประเมินเป็น sentiment ลบต่อทิศทางการท่องเที่ยว นำโดยผู้ประกอบการที่มีฐานรายได้จากกลุ่มประเทศเสี่ยงการระบาดสายพันธุ์ใหม่อย่าง MINT, SHR ตามด้วยผู้ประกอบการที่มีรายได้อิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่าง ERW , CENTEL , CRC และ CPALL ตามลำดับ
ทั้งนี้ในเชิงปัจจัยพื้นฐานมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบจาก Omicron แต่เชื่อว่าการระบาดครั้งนี้จะไม่รุนแรงเท่ารอบก่อน เพราะอัตราการฉีดวัคซีนในหลายประเทศปัจจุบันมีมากขึ้นแล้ว ดังนั้น จึงยังคงมุมมองบวกต่อกลุ่มการท่องเที่ยวและกลุ่มค้าปลีก แนะนำรอซื้อเมื่ออ่อนตัว เลือกหุ้นเด่นสำหรับกลุ่มท่งเที่ยว คือ CENTEL (ราคาเป้าหมาย 43 บาท) ส่วนกลุ่มค้าปลีกเลือก HMPRO (ราคาเป้าหมาย 16 บาท) และ CRC (ราคาเป้าหมาย 40 บาท) ตามด้วย CPALL (ราคาเป้าหมาย 72 บาท)