PTTEP กางแผน 5 ปีทุ่มงบ 9 แสนลบ. ลุยพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ดันยอดขายโตเฉลี่ย 5%

PTTEP จัดสรรแผนการลงทุน 5 ปี (2565-2569) งบประมาณรวมเป็นเงินกว่า 9 แสนล้านบาท มุ่งพัฒนาแหล่งก๊าซฯ-น้ำมัน คาดการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5%


นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดสรรงบประมาณสำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (65-69) รวม 27,164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 911,124 ล้านบาท) แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) ในปี 65 ที่ 3,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 108,493 ล้านบาท), ปี 66 จำนวน 3,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 113,839 ล้านบาท), ปี 67 ที่ 3,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 112,621 ล้านบาท), ปี 68 ที่ 3,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 114,696 ล้านบาท) และปี 69 ที่ 2,893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 97,523 ล้านบาท) คิดเป็นวงเงินรวม 5 ปี จำนวน 16,534 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 557,361 ล้านบาท)

อีกทั้งเป็นรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) ในปี 65 ที่ 2,449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 82,556 ล้านบาท), ปี 66 ที่ 1,993 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 67,204 ล้านบาท ), ปี 67 ที่ 1,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 67,305 ล้านบาท), ปี 68 ที่ 2,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 68,125 ล้านบาท), ปี 69 ที่ 2,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 73,251 ล้านบาท) คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 10,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(เทียบเท่า 358,444 ล้านบาท)

ทั้งนี้จากแผนงานดังกล่าว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วง 5 ปี ที่ประมาณ 5% หรือปี 65 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน, ปี 66 ที่ 463,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน , ปี 67 ที่ 473,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน, ปี 68 ที่ 493,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และปี 69 ที่ 528,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ไว้ที่ 5,666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 190,036 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 3,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 107,895 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 2,449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 82,141 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ดังนี้

  1. รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ เช่น โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการมาเลเซีย โครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการซอติก้า รวมถึง การเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการเป็นผู้ดำเนินการและการเริ่มต้นสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ จี 2/61 (แหล่งบงกช) โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 2,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 83,661 ล้านบาท) สำหรับการดำเนินงาน
  2. เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต โดยมุ่งเน้น 3 โครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรียวัน โครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมประเมินผลแหล่งลัง เลอบาห์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ (ระยะที่ 2) ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้รวม 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 15,312 ล้านบาท)
  3. เร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 8,788 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก

“งบลงทุนสำหรับปี 2565 บริษัทจะจัดสรรเพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการหลัก เช่น การลงทุนในแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้มากขึ้นรองรับการใช้พลังงานของประเทศ สำหรับแผนงาน 5 ปี จะเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งก๊าซฯและน้ำมันที่ปตท.สผ. ได้สำรวจพบหลายแหล่งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งแผนเพิ่มการผลิตและแผนพัฒนาดังกล่าว จะสามารถเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ยประมาณ 5% ในขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนจะลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) มากขึ้น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงาน (Energy Transition) เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายมนตรี กล่าว

โดยธุรกิจใหม่ที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน รวมถึง การลงทุนในการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization) หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI & Robotics) รวมทั้ง การศึกษาและพัฒนาโครงการ Gas to Power ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ยังคงดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม  และ ธรรมาภิบาล (ESG) โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับแผนงานในหลายด้าน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas Management) การวางแผนการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Circular Model for E&P) การอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) รวมถึงการดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมอื่น ๆ (CSR) เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

Back to top button