“จุฬาฯ” ยัน ”โพรไบโอติก” เพิ่มผลผลิต “สุกร” หนุนผู้เลี้ยงลดใช้ยาปฏิชีวนะ
“จุฬาฯ” โชว์ผลงานการศึกษา พบว่า “โพรไบโอติก” ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของเนื้อสุกรและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ตอกย้ำประโยชน์แก่ผู้เลี้ยง-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล รองคณบดีวิจัย นวัตกรรม และสื่อสารองค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เปิดเผยผลการศึกษาในวารสาร Scientific Report พบ “โพรไบโอติก” มีประโยชน์กับวงการเลี้ยงสุกร ช่วยเพิ่มผลผลิต สุกรสุขภาพแข็งแรง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของเนื้อสุกร แนะเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับฟาร์มเลี้ยงได้ เป็นอีกแนวทางเพิ่มขีดความสามารถ และช่วยสกัดปัญหาเชื้อดื้อยา ตอกย้ำประโยชน์แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
“โพรไบโอติก” และ “พรีไบโอติก” กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จะเห็นว่ามีโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต อาหารเสริมต่างๆ ซึ่งโพรไบโอติกช่วยเสริมสร้างระบบการทำงานที่ดีในลำไส้ให้มีความสมดุล เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีแข็งแรง นอกจากนี้ การนำโพรไบโอติกมาใช้ในวงการปศุสัตว์มีแนวโน้มได้รับความสนใจขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะและลดอัตราเชื้อดื้อยา” รศ. น.สพ.ดร. ณุวีร์ กล่าว
ทีมนักวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินงานวิจัย “Use of Lactobacillus plantarum (strains 22F and 25F) and Pediococcus acidilactici (strain 72N) as replacements for antibiotic-growth promotants in pigs” ซึ่งเป็นการศึกษาการนำโพรไบโอติกมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ผลการศึกษาค้นพบโพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะที่ดี มีความทนทาน และไม่ส่งต่อยีนดื้อยา เมื่อนำมาทดลองใช้กับฟาร์มเลี้ยงสุกร พบว่าโพรไบโอติกช่วยเพิ่มน้ำหนักสุกร มีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วย ช่วยลดหรือทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่ยังทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ณุวีร์ เสริมว่า การนำโพรไบโอติกมาใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์มีข้อดีหลายประการด้วยกัน ประการแรก โพรไบโอติกจะเข้าไปสร้างสารที่มีประโยชน์กับเซลล์ในลำไส้ ช่วยเสริมให้มีการดูดซึมแร่ธาตุได้ดีขึ้น และมีการสร้างกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids) ได้ดีขึ้น เราเรียกสารเหล่านี้ว่า โพสไบโอติก ซึ่งเป็นสารมหัศจรรย์ช่วยให้ร่างกายสามารถสื่อสารกับอวัยวะต่างๆ ภายในให้ทำงานประสานกันได้อย่างสอดคล้องสมดุลกัน ดังนั้น การที่มีเชื้อดีอย่างสมดุลอยู่ในลำไส้ หรือมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากกว่า สามารถควบคุมจุลินทรีย์ที่เป็นโทษได้ จะส่งผลให้คนหรือสัตว์มีสุขภาพที่ดีกว่ากลุ่มคนที่มีเชื้อจุลินทรีย์ไม่สมดุล จากผลวิจัยใช้โพรไบโอติกกับฟาร์มสุกร ช่วยให้สุกรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารปกติ จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยให้ผู้เลี้ยงลดต้นทุนการผลิตได้
ข้อดีที่สอง การที่สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ ไม่ป่วยง่าย ลดโอกาสหรือไม่ต้องใช้ยารักษา จึงช่วยป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาได้ เนื่องจากโพรไบโอติกจะช่วยลดการส่งผ่านยีนดื้อยาของแบคทีเรีย สามารถลดปริมาณเชื้อที่ไม่ดีในร่างกายของสัตว์ ขณะเดียวกัน สุกรที่มีสุขภาพแข็งแรง อารมณ์ดี มีความสุขจะส่งผลต่อคุณภาพของเนื้อสัตว์ด้วย ช่วยให้ช่วยให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
จากการยืนยันของงานวิจัยถึงผลลัพธ์จากการใช้โพรไบโอติกในการเลี้ยงสัตว์ มีส่วนช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลต่อการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่าการใช้โพรไบโอติกมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถของภาคปศุสัตว์ของไทยไปอีกก้าว