TRV ลุยเทรดวันนี้! ลุ้นวิ่งแตะเป้า 3.50 บ. ชูพื้นฐานแกร่ง 9 เดือนกำไรโต 40%

TRV ขึ้นสังเวียนเทรดวันแรก ลุ้นวิ่งชนเป้า 3.50 บ. โบรกฯชูพื้นฐานแกร่ง ประสบการณ์ธุรกิจ 20 ปี โชว์ผลงาน 9 เดือนปี 2564 กำไรโต 40%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ธ.ค.64) หลักทรัพย์บริษัท ที.อาร์.วี. รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRV จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรก ด้วยราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 2.30 บาท โดยมี บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ TRV เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า TRV

สำหรับ TRV ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยางขึ้นรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเกษตร ซีลยางท่อน้ำ เป็นต้น ในปี 2563 บริษัทมีสัดส่วนโครงสร้างรายได้เท่ากับ 44%: 55% : 1% ตามลำดับ

โดยช่องทางการจัดจำหน่ายจะเป็นการจำหน่ายตรงให้ผู้ผลิตสินค้า ซึ่งเริ่มต้นด้วยการร่วมกันออกแบบ และผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้า บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2015 ได้การรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ IATF 16949:2016 และได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001:2015

สำหรับ TRV มีทุนชำระแล้ว 105.00 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 155.435 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 54.565 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) โดยแบ่งเป็นเสนอขายต่อประชาชน จำนวนไม่เกิน 52.930 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 0.300 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 1.335 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 24 – 26 พฤศจิกายน 2564 ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 125.50 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 483.00 ล้านบาท

ทั้งนี้ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 17.69 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ซึ่งเท่ากับ 27.90 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท มีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ด้าน นายธีรวุฒิ นวมงคลชัยกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRV เปิดเผยว่า บริษัทฯเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ในธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยางขึ้นรูปในยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยางขึ้นรูปอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญมากว่า 20 ปี พร้อมวางกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้า และเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตชิ้นส่วนยางที่มีคุณภาพ ด้วยการบริหารงานอย่างมืออาชีพ

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 125.50 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรจำนวน 15 เครื่อง ซึ่งจะสนับสนุนให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 94 ล้านชิ้น ในช่วงปี 2565-2568 นอกจากนี้ นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ เร่งปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการ แม้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวการผลิตรถยนต์ในประเทศ แต่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากช่วง Work from Home ส่งผลให้มีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ประสบความสำเร็จ เติบโตทั้งยอดขายและกำไร

ทั้งนี้ แนวโน้มไตรมาส 4/2564 ภาพรวมคำสั่งซื้อยังคงมีเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ขณะที่ อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวชัดเจน ทำให้ชิ้นส่วนยางขึ้นรูปในกลุ่มยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตรากำไรดี เข้ามาสนับสนุนผลการดำเนินงานช่วงโค้งสุดท้ายของปีให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 40% โดยเฉพาะในปี 2565 TRV มีความพร้อมในการขยายกำลังการผลิต ด้วยฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น

ด้านกระแสการเติบโตในกลุ่มยานยนต์ EV และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี IoT จะเป็นโอกาสในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางขึ้นรูปที่มีคุณภาพ จึงเชื่อว่าจะสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และสนับสนุนให้บริษัทฯ ได้รับความสนใจในระยะยาว

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า ด้วยความเชี่ยวชาญของผู้บริหารกว่า 20 ปี มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจทั้งด้านการบริหารจัดการ บุคลากร กระบวนการผลิต และคุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐาน การส่งมอบให้ทันเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้บริษัทได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้ผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางขึ้นรูป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในฐานลูกค้าหลักของบริษัทฯ เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะเพิ่มศักยภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหม่

ด้านผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2564 TRV มีรายได้รวม 134.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.34 % เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 114.37 ล้านบาทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 22.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.80% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 15.32 ล้านบาท

สำหรับความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 และปี 2564 มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 36.56% และ 40.19% ตามลำดับ และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 13.42% และ 16.53% ตามลำดับ มีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายชิ้นส่วนยางขึ้นรูปในยานยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 52.46% ขณะที่ ชิ้นส่วนยางขึ้นรูปในเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 46.49% และชิ้นส่วนยางขึ้นรูปอื่นๆ 1.05% ของรายได้จากการขาย สำหรับเทรนด์การเติบโตในช่วงไตรมาส 4/2564 และในปีหน้า บริษัทฯ จะพยายามเพิ่มสัดส่วนชิ้นส่วนยานยนต์ให้เติบโต พร้อมบริหารต้นทุนการผลิต จากปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตระดับ 81.89%

ด้านนายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ TRV ในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 54.56 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 2.30 บาท ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินกว่าคาดหมาย ตอกย้ำถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนแผนการขยายกำลังการผลิตและการแข่งขันในตลาด เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต

สำหรับบทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ประเมินกรอบราคาเหมาะสมของ TRV อยู่ในกรอบที่ 3.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการลงทุน ซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้นอีก 15 เครื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเท่าตัวจากปี 2563 จำนวน 104.10 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 198.10 ล้านชิ้นต่อปี ภายใน 3 ปี ข้างหน้า สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่จะผลิตได้ที่ 1.55-1.60 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 9-12% จากปีก่อน นอกจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมีการเพิ่มขึ้น 2-4 % ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์ COVID-19 ที่ดีขึ้น

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 39.24% จากปีก่อน อยู่ที่ 29.52 ล้านบาท และโตต่อเนื่องเป็น 52.29 ล้านบาท ภายในปี 2566 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยที่ 21% มีปัจจัยสนับสนุน คือ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นรวมถึงการส่งออก 2. อัตรากำไรอยู่ในระดับที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีประมาณการรายได้ในปี 2564-67 อยู่ที่ 178.04, 194.00, 225.62 และ 270.75 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% อัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 39% และ อัตรากำไรสุทธิระหว่าง 17-19% ซึ่งภายหลังการระดมทุนและทยอยซื้อเครื่องจักรแล้วเสร็จจะส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว

ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 3.00 บาท คาดกำไรปกติปี 2564-66 ประมาณ 18% CAGR ประเมินกำไรปี 2564-65 จะเติบโต 14.2% และ 16.9% ตามลำดับ เนื่องด้วยยอดขายฟื้้นตัวของกลุ่มยานยนต์ ที่ 5.4% และ 11.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก คาดการณ์ว่า GPM ปี 2564-65 อยู่ระหว่าง 38.9-39.4% ในปี 2566 มีการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากการคำสั่งซื้อใหม่ คาดการณ์ว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 14.7% และในส่วน GPM ยังคงอยู่ที่ 39.2% ภายใต้วิธี PE Valuation อิงกำไรต่อหุ้นปี 2565 ที่ 0.162 บาทต่อหุ้น และ Forward/PE ที่ 18.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 15 เท่า เพื่อสะท้อนความสามารถเติบโตที่เด่นกว่ากลุ่มฯ จากทั้งฐานกำไรที่ยังต่ำและอัตรากำไรของบริษัทที่สูงเป็นอันดับต้นๆเทียบกับอุตสาหกรรม

โดยจุดแข็งของ TRV คือ อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงระดับ 37.77% ในปี 2563 เกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ประกอบธุรกิจคล้ายกันที่เพียงราว 20% หนุนความยืดหยุ่นการใช้กลยุทธ์แข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก

Back to top button