สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ธ.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ธ.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากดาวโจนส์ร่วงลงอย่างหนักติดต่อกัน 2 วันทำการ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากหุ้นโบอิ้งที่พุ่งขึ้นกว่า 7% หลังจีนอนุมัติการขึ้นบินของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 MAX
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,639.79 จุด เพิ่มขึ้น 617.75 จุด หรือ +1.82%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,577.10 จุด เพิ่มขึ้น 64.06 จุด หรือ +1.42% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,381.32 จุด เพิ่มขึ้น 127.27 จุด หรือ + 0.83%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงมากกว่า 1% ในวันพฤหัสบดี (2 ธ.ค.) เนื่องจากหลายประเทศเพิ่มข้อจำกัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 465.44 จุด ลดลง 5.42 จุด หรือ -1.15%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,795.75 จุด ลดลง 86.12 จุด หรือ -1.25%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,263.11 จุด ลดลง 209.56 จุด หรือ -1.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,129.21 จุด ลดลง 39.47 จุด หรือ -0.55%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (2 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่หลายประเทศรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว ขณะที่การเตือนเกี่ยวกับเงินเฟ้อจากธนาคารกลางต่าง ๆ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,129.21 จุด ลดลง 39.47 จุด หรือ -0.55%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด นอกจากนี้ กระแสความวิตกกังวลที่เริ่มลดลงเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนยังทำให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 21.6 ดอลลาร์ หรือ 1.21% ปิดที่ 1,762.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.3 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 22.316 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.1 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 933.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 17.90 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1,771.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) หลังที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงปัจจุบันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนม.ค. 2565 แม้ถูกกดดันจากสหรัฐที่ต้องการให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าระดับดังกล่าว
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 66.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 69.67 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ขณะที่นักลงทุนจับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.13% แตะที่ 96.1540 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.16 เยน จากระดับ 112.80 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9208 ฟรังก์ จากระดับ 0.9204 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2812 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1296 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1317 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3297 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3280 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7088 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7111 ดอลลาร์สหรัฐ