ข่าวดี! “ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” นักท่องเที่ยวมะกันติดเชื้อ “โอไมครอน”

“กรมควบคุมโรค” ยืนยันไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังพบผู้โดยสารเชื้อชาติไทย สัญชาติอเมริกัน ตรวจเจอเชื้อ “โอไมครอน” หลังเดินทางจากดูไบมากทม.เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64


จากกรณี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย โดยเบื้องต้นเก็บตัวอย่างครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 พบว่าโอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอนสูงมาก 99.92 % และตรวจเชื้อซ้ำเมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นสายพันธุ์โอไมครอน รายแรกของไทย แต่ยังไม่ทราบว่ามีประวัติไปแอฟริกาหรือไม่

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว เบื้องต้นพบว่าเป็นชายไทย อายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน อาศัยอยู่ที่สเปนเป็นเวลา 1 ปี อาชีพนักธุรกิจ ไม่มีโรคประจำตัว (ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ) ได้รับวัคซีน J&J 1 เข็มจากอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64

โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 ตรวจ PCR ที่สเปนไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน (เพื่อนไม่มีอาการป่วย จนถึงปัจจุบัน)

วันที่ 29 พ.ย.64 บินจากประเทศสเปนไปดูไบ พักดูไบ 9 ชม. ไม่ได้พูดคุยกับใครและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

วันที่ 30 พ.ย.64 บินจากดูไบมากรุงเทพมหานคร หลังจากลงเครื่องบิน (เที่ยงคืน) ไปเก็บตัวอย่างแบบไดรฟ์ทรู ที่โรงพยาบาลคู่สัญญา และกลับเข้าโรงแรม (ผู้ป่วยเข้าโครงการ Test&Go)

วันที่ 1 ธ.ค.64 ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าพบเชื้อโควิด-19

วันที่ 3 ธ.ค.64 ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

พร้อมกันนี้พบผู้สัมผัสทั้งหมด 19 คน เป็นพนักงานโรงแรม 17 คน และพนักงานในสนามบิน 2 คน โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน เขานั่งคนเดียวไม่ได้นั่งติดกับใคร และเมื่อมาอยู่ในโรงแรมในประเทศไทยก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าผู้สัมผัสทั้งหมดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ซึ่งทีมสอบสวนโรคได้เข้าสอบสวนทุกคนแล้วและจะติดตามต่อไปจนกว่าจะครบระยะฟักตัวของโรค ขณะนี้ทั้งหมดอาการปกติ

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังได้สรุปข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ดังนี้

1.สายพันธุ์โอไมครอนดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา 2-5 เท่า

2.ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และลักษณะของการติดเชื้อแยกยากจากสายพันธุ์อื่น ๆ

3.รายงานการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบว่าผู้ติดเชื้อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

4.ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิต

Back to top button