“หุ้นเอเชีย” เปิดบวก! ตามดาวโจนส์ปิดพุ่งกว่า 600 จุด หลังนลท.คลายกังวล “โอไมครอน”
“หุ้นเอเชีย” เปิดบวก! ตามดาวโจนส์ปิดพุ่งกว่า 600 จุด หลังนลท.คลายกังวลโอไมครอน ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าไวรัสโอไมครอนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวขึ้นตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค.2564) เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หลังจากนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาวกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสโอไมครอนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง
โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,138.82 จุด เพิ่มขึ้น 211.45 จุด หรือ +0.76%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,704.51 จุด เพิ่มขึ้น 355.13 จุด หรือ +1.52% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,611.22 จุด เพิ่มขึ้น 21.91 จุด หรือ +0.61%
นายแพทย์เฟาชีกล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวานนี้ว่า “แม้ดูเหมือนว่าเร็วเกินไปที่จะออกมาสรุปในเรื่องนี้ แต่นับจนถึงขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสโอไมครอนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง”
สำหรับการแสดงความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับที่นายมาร์โก โคลาโนวิช และนายบราม แคปแลน นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “แม้ว่าโอไมครอนจะระบาดได้รวดเร็วกว่า แต่รายงานก็บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบวิวัฒนาการของไวรัสในอดีตที่บ่งชี้ว่า ไวรัสที่มีการแพร่ระบาดมากกว่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า จะเข้ามาแทนที่ไวรัสสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งจะทำให้โอไมครอนเป็นตัวเร่งให้การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 นั้น กลายเป็นเพียงบางสิ่งที่คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น”
นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.50% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. นี้ ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีการกันสำรองอยู่ที่ระดับ 5% อยู่แล้ว ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนคาดการณ์ว่า การปรับลด RRR จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง และช่วยลดต้นทุนทางการเงินอย่างครอบคลุม
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่น่าติดตามในวันนี้ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนต.ค. ของเกาหลีใต้, การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนต.ค.ของญี่ปุ่น, ยอดนำเข้า-ส่งออก-ดุลการค้าและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนพ.ย.ของจีน รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินและการแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย