ก.ล.ต.กล่าวโทษบอร์ด-อดีตผู้บริหาร GSC ฐานทุจริต-แสวงหาประโยชน์มิชอบ กรณีปล่อยกู้ ACAP
ก.ล.ต.กล่าวโทษบอร์ด-อดีตผู้บริหาร GSC พร้อมพวก 7 ราย ฐานทุจริต-แสวงหาประโยชน์มิชอบ กรณีปล่อยกู้ ACAP
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการและอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GSC รวม 7 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีปฏิบัติผิดหน้าที่ ทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ จากกรณีให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP เพื่อให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้ประโยชน์ จนเป็นเหตุทำให้ GSC เสียหาย
สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคล 7 ราย ซึ่งในช่วงปี 2562 เป็นกรรมการและผู้บริหารของ GSC ได้แก่ (1) นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี (ชื่อเดิม นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี) (2) นางสาวสุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว (3) นางสาวสิริณี ฉิมบรรเทิง (4) นางสาวอุดมพร เอี่ยมจ้อย (5) นางสาวณิชาภา ทองตัด (6) นายธัญพิสิษฐ์ ทรัพย์รอด และ (7) นางสาวเมตตา โพธิ์กิ่ง
โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2562 บุคคลทั้ง 7 รายข้างต้น โดยมีนางสาวณิชารดี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ GSC ได้ร่วมกันตัดสินใจ อนุมัติ และหรือสั่งการให้ GSC ปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่ ACAP (ซึ่งถือหุ้นใน GSC ร้อยละ 64 โดยมีนางสาวณิชารดีเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ACAP) รวม 7 รายการ มูลค่าสะสมรวมสูงสุดอยู่ที่ 180 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 73 ของสินทรัพย์รวมของ GSC) อัตราดอกเบี้ยของเงินให้กู้ยืมร้อยละ 2 ต่อปี อย่างไรก็ดี มีเงินให้กู้ยืมบางรายการที่ GSC ไม่ได้คิดดอกเบี้ย แต่ภายหลังที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ GSC ชี้แจงเรื่องเงินให้กู้ยืมดังกล่าว GSC จึงให้ ACAP จ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังร้อยละ 2 ต่อปี
การให้กู้ยืมเงินของ GSC แก่ ACAP ข้างต้นเข้าข่ายเป็นการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงที่มีขนาดรายการใหญ่ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนทำรายการ แต่จากการตรวจสอบพบว่า กรรมการและผู้บริหารของ GSC ข้างต้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันแต่อย่างใด โดยได้มาจัดประชุมผู้ถือหุ้นในภายหลังจากการทำรายการไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติไม่ให้สัตยาบันต่อการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันดังกล่าว
นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้นยังกระทำการเกินกรอบอำนาจหน้าที่และไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของ GSC ที่กำหนดให้นำเงินไปลงทุนได้ในความเสี่ยงที่ระดับ 1 เท่านั้น แต่กลับนำไปลงทุนในตราสารหนี้ของ ACAP (Non-investment grade) ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงที่ลงทุนได้
การกระทำดังกล่าวทำให้ GSC มีความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งกรรมการและผู้บริหารของ GSC เห็นชอบร่วมกันให้นำเงินทั้งหมดที่ GSC เพิ่งได้รับจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ไปให้กู้ยืมเงินแก่ ACAP โดยข้อเท็จจริงพบว่า ACAP นำเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้และตั๋วเงินที่ครบกำหนดชำระของ ACAP ที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.5-8.0 ต่อปี ทำให้ GSC เสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ควรได้รับ และ ACAP ได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่ลดลง
การกระทำของบุคคลทั้ง 7 รายข้างต้น ในฐานะกรรมการและผู้บริหาร GSC ในช่วงเกิดเหตุ เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 หรือกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ อันเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/12 หรือ มาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/12 และมาตรา 307 มาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลดังกล่าว ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษในความผิดกรณีทุจริต เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ