สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ธ.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ธ.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) หลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยตลาดปรับตัวรับการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่เป็นไปตามคาดในเดือนพ.ย. ซึ่งได้ช่วยลดแรงกดดันของนักลงทุนที่วิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างรุนแรง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,970.99 จุด เพิ่มขึ้น 216.30 จุด หรือ +0.60%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,712.02 จุด เพิ่มขึ้น 44.57 จุด หรือ +0.95% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,630.60 จุด เพิ่มขึ้น 113.23 จุด หรือ +0.73%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่เป็นไปตามคาดการณ์นั้นแทบไม่ได้ช่วยลดความไม่แน่นอนที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 475.56 จุด ลดลง 1.43 จุด หรือ -0.30%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,991.68 จุด ลดลง 16.55 จุด หรือ -0.24%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,623.31 จุด ลดลง 15.95 จุด หรือ -0.10% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,291.78 จุด ลดลง 29.48 จุด หรือ -0.40%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) หลังจากการเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงในอังกฤษก่อนพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,291.78 จุด ลดลง 29.48 จุด หรือ -0.40% แต่ปิดตลาดปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน และปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) และปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบกว่า 3 เดือน หลังนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 71.67 ดอลลาร์/บาร์เรล และพุ่งขึ้น 8.2% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 75.15 ดอลลาร์/บาร์เรล และพุ่งขึ้น 7.5% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) หลังนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 8.1 ดอลลาร์ หรือ 0.46% ปิดที่ 1,784.8 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 0.05% ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ย.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 18.2 เซนต์ หรือ 0.83% ปิดที่ 22.195 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.5 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 934.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 63.40 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 1,749.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (10 ธ.ค.) แม้รัฐบาลสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.18% แตะที่ 96.0972
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.42 เยน จากระดับ 113.47 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9209 ฟรังก์ จากระดับ 0.9244 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2728 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2719 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1311 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1288 ดอลลาร์, ปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3257 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3209 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7169 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7145 ดอลลาร์