“สนพ.” ปรับ PDP ใหม่ ขยับพลังงานสะอาด 1,000 MW ดัน “น้ำ-ลม-ขยะ” เพิ่ม ชู GULF-EA ตัวเต็ง
สนพ. ปรับแผน PDP ใหม่เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ ขยับกำลังการผลิตส่วนของรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างประเทศ, วินด์ฟาร์ม, ขยะ, พลังงานน้ำขนาดเล็ก ขณะที่ลดไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, โซลาร์ฟาร์ม, ชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ ลุ้น GULF,EA,TPCH,GUNKUL,ACE ตีปีกจ่อรับร่วมชิงเค้ก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) จะเป็นแผนที่กำหนดทิศทางของกรอบเป้าหมายนโยบายพลังงานให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
โดยกรอบแผนจะเป็นการบูรณาการว่าด้วยทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอีก 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี ข้างหน้า อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด คาดว่าแผนพลังงานชาติ เริ่มใช้ได้จริงปี 2566
สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้เร็วขึ้นในปี 2564-2573 เบื้องต้น กบง.พิจารณา 10 ปีแรกจะบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022) ให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบ
ทั้งนี้ในส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิล เบื้องต้นเป็นการปรับลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติลง 700 เมกะวัตต์ โดยจากจากแผน PDP 2018 Rev.1 เดิมอยู่ที่ 5,550 เมกะวัตต์ แผน PDP ฉบับใหม่เหลือ 4,850 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ลิกไนต์) แผนฉบับใหม่เท่าเดิม 600 เมกะวัตต์ ส่งผลให้รวมด้านการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแผน PDP ฉบับใหม่เหลือจำนวน 5,450 เมกะวัตต์
ขณะที่ไปเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ส่วนของพลังงานสะอาดรวมเป็นจำนวน 10,193 เมกะวัตต์ โดยการปรับเปลี่ยนแผนในส่วนพลังงานสะอาดดังนี้ โดยมีการปรับเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังน้ำในต่างประเทศ จากแผน PDP 2018 Rev.1 เดิมอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ แผน PDP ฉบับใหม่จะเพิ่มเป็น 2,766 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1,366 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม แผนเดิม 270 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยะ แผนเดิม 400 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์
ส่วนได้มีการปรับลดสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ แผนเดิม 5,194 เมกะวัตต์ เหลือ 4,455 เมกะวัตต์ หรือลดลง 739 เมกะวัตต์, ชีวมวล แผนเดิม 1,120 เมกะวัตต์ เหลือ 485 เมกะวัตต์ หรือลดลง 635 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ แผนเดิม 783 เมกะวัตต์ เหลือ 335 เมกะวัตต์ หรือลดลง 448 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามรวมโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานทดแทนรวมในแผน PDP ฉบับใหม่เพิ่มเป็น 15,643 เมกะวัตต์ จากแผน PDP 2018 Rev.1 เดิมอยู่ที่ 15,343 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ทำให้โรงไฟฟ้าใหม่รวมเพิ่มขึ้น 300 เมกะวัตต์
ด้านนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า จากแผน PDP 2022 เบื้องต้นพบว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด โดยบริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการพลังงานน้ำในต่างประเทศ ขณะนี้ศึกษาไว้หลายโครงการ พร้อมทั้งศึกษาโรงไฟฟ้าขยะ ลมและโซลาร์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอความชัดเจนการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากทางภาครัฐต่อไป
ส่วนนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทยังรอความชัดเจนจากทางภาครัฐ คาดว่าจะมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดออกมาเร็วๆนี้ ซึ่งบริษัทมองโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะลมและขยะ แต่ขยะอาจจะเป็นโครงการขนาดเล็ก 8-10 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมองโอกาสไปที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมมากกว่า ซึ่งตามแผน PDP 2022 คาดจะอยู่ที่ 1,500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับแผนเดิม
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะสยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธันวาคมนี้ และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม อีกประมาณ 50 เมกะวัตต์ และหากรัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเติม บริษัทก็มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนจากทางภาครัฐเร็วๆ นี้
นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) เปิดเผยว่า การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในแผน PDP ฉบับใหม่ เป็นสัดส่วน 40-50% โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในต่างประเทศ พบว่า GULF ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเป็นโครงการที่ GULF ร่วมถือหุ้นเกือบทุกโครงการ (GULF ถือหุ้น 30%)
โดยแบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน 3 โครงการที่สปป.ลาว คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2,366 เมกะวัตต์ ที่มีความชัดเจนค่าไฟแล้ว ประกอบด้วยโครงการ Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ ,โครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้า 770 เมกะวัตต์ และโครงการ Sanakham กำลังการผลิตไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าเขื่อนทั้ง 3 โรงคาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD)ในปี 2572-2573 โดยจะขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะที่ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 2 โครงการ ที่คาดจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้
ขณะที่ส่วนของการเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม มองว่า บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ,บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ,บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO จะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะ EA และ GUNKUL ที่คาดว่ายังมีพื้นที่ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม
ส่วนการปรับเพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ มองว่าบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE และ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH จะได้รับประโยชน์ในการร่วมชิงโครงการ