“โบรกฯ” ชี้กำไร TFM ไตรมาส 1/65 ฟื้น ดันทั้งปีแตะ 472 ลบ. หลังโควิดคลี่คลายหนุนดีมานด์
“ฟินันเซียฯ” เชียร์ “ซื้อ” TFM เป้า 17 บ. มองกำไร Q1/65 ฟื้น คาดทั้งปีกำไรแตะ 472 ลบ. หลังโควิดคลี่คลายโดยเฉพาะตปท. ทำให้ความต้องการกุ้งส่งออกไทยกลับมาฟื้น และการคลายล็อกดาวน์คาดหนุนความต้องการใช้อาหารสัตว์สูงขึ้น
บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (16 ธ.ค. 2564) โดยประเมินต่อหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ว่า โดยระยะสั้นคาดแนวโน้มกาไรสุทธิไตรมาส 4/2564 จะอ่อนตัวจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยฤดูกาล ซึ่งปกติไตรมาส 4 เป็นช่วง Low Season ของการเลี้ยงสัตว์ทั้งในไทย และปากีสถาน ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์โดยรวมยังทรงตัวสูงใกล้เคียงไตรมาส 3/2564 น่าจะยังกดดันอัตรากำไรขั้นต้นให้ต่ำกว่าในอดีต เบื้องต้นทางฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ไว้ตามเดิมที่ 225 ล้านบาท ลดลง 45.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมองเป็นจุดต่ำสุดแล้ว เพราะถูกกระทบจากโควิดและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น
ขณะที่บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปี 2565 ราว 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับ 12% – 14% ดีขึ้นจาก 11.20% ในปี 2564 (FSS คาด) โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) รายได้ในประเทศกลับมาฟื้นตัวจาก COVID-19 คลี่คลาย อีกทั้ง (2) รับรู้รายได้จากปากีสถานเต็มปี หลังเริ่มรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 และได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 50% จาก 1 หมื่นตันต่อปี เป็น 1.50 หมื่นตันต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตใหม่จะเข้ามาในเดือน ม.ค – ก.พ.2565
รวมทั้ง (3) เตรียม Commercial Run โรงงานที่อินโดนีเซียในไตรมาส 1/2565 ด้วยกำลังการผลิต 3.60 หมื่นตันต่อปี โดยตั้งเป้าปริมาณขายจากโรงงานนี้ที่ 1 หมื่นตันในปี 2565 แม้คิดเป็น 28% ของกำลังการผลิตรวม แต่บริษัทฯ ระบุว่าระดับคุ้มทุนคือ 25% จึงคาดโรงงานอินโดนีเซียจะรับรู้กำไรได้ทันทีในปีแรก อีกทั้ง (4) ล่าสุดสมาคมอาหารสัตว์อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ขึ้นเฉลี่ย 2% – 5% ตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 โดยคาด TFM จะสามารถปรับขึ้นราคาขายได้ราว 2% และ (5) แนวโน้มต้นทุนอาหารสัตว์ปลาป่า, กากถั่วเหลือง, แป้งสาลี จะยังทรงตัวสูงในครึ่งปีแรก 2565 และคาดจะอ่อนตัวลงในครึ่งปีหลัง 2565
อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเดิมว่าผลการดำเนินงานจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2564 และคาดกำไรสุทธิปี 2565 จะกลับมาเติบโตอีกครั้งราว 109.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็น 472 ล้านบาท ภายหลัง COVID คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ทำให้ความต้องการกุ้งส่งออกจากไทยกลับมาฟื้นตัว และการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของไทย คาดช่วยหนุนความต้องการใช้อาหารสัตว์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกุ้ง, ปลา และปลากะพง (กลุ่ม End Customer อย่าง Food Service เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม มีความต้องการปลากะพงค่อนข้างมาก)
ขณะที่ยังมองแนวโน้มราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์น่าจะเริ่มผ่อนคลายเป็นลำดับ รวมถึงรับรู้รายได้จากอินโดนีเซียและปากีสถาน และยังมีแผนการขยายเข้าสู่ Dried Pet Food อาหารสัตว์เลี้ยงแบบแห้ง โดยอาจเป็นการรับจ้างผลิตและขายให้กับ TU คาดเห็นความชัดเจนในช่วงกลางปี 2565 ยังคงราคาเป้าหมายที่ 17 บาท (อิง PE เดิม 17.5 เท่า)