SAK ร่วมทุนรุกธุรกิจ “โดรนเพื่อการเกษตร” ตั้งเป้าปี 65 ยอดขาย 1 พันลำ
SAK ร่วมทุนตั้ง “ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน” รุกธุรกิจ “โดรนเพื่อการเกษตร” ครบวงจร หวังนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการเพาะปลูก วางเป้าหมายยอดขายในปี 65 ประมาณ 1 พันลำ
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมทุนกับนายปภังกร โชคทวีชัยเจริญ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตรมายาวนาน เพื่อจัดตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ถือหุ้น 70% และถือหุ้นในนามบุคคล 30% คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวภายในไตรมาส 1/2565
โดยปัจจุบัน SAK มีฐานลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อที่แข็งแกร่งและเกือบ 60% เป็นกลุ่มเกษตรกร ที่บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสังคมในทุกมิติเพื่อเกษตรกรไทยเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนสู่ Smart Farmer ให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนฐานราก โดยวางเป้าหมายยอดขายในปี 2565 ประมาณ 1,000 ลำ
ทั้งนี้ บริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน จำกัด มีความมุ่งมั่นก้าวสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรครบวงจรในประเทศไทย โดยนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการเพาะปลูก ทั้งการประหยัดเวลาและแรงงาน ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของผู้ฉีดพ่น ผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ 4.0 โดยบริษัทฯ ดังกล่าวจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตรพร้อมบริการหลังการขายแบบครบวงจร ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะการบินที่มีมาตรฐาน ขณะที่ SAK พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรที่สนใจผ่านเครือข่ายสาขา ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ โดยมุ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อสังคมของ SAK สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการประกอบอาชีพ ร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทยให้ก้าวสู่ 4.0 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคการผลิต ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตลอดจนสร้างรายได้และยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ รวมทั้งสร้างงานและรายได้ให้กับนักบิน ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในแรงงานเกษตร” นายศิวพงศ์ กล่าว
สำหรับตลาดโดรนเพื่อการเกษตร นับเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและเติบโตสูง โดยในช่วง 3 ปี (2560 – 2563) มีโดรนเพื่อการเกษตรและขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศซึ่งไม่มีนักบิน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เติบโตก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดโดรนเพื่อการเกษตรภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 30,000 ลำ จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 4,000 ลำ