สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงเกือบ 2.5% เนื่องจากเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,897.64 จุด ลดลง 29.79 จุด หรือ -0.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,668.67 จุด ลดลง 41.18 จุด หรือ -0.87% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,180.43 จุด ร่วงลง 385.15 จุด หรือ -2.47%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) โดยปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบมากกว่า 1 สัปดาห์ นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) สัญญาว่าจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป และยังคงเลือกที่จะดำเนินการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 476.56 จุด เพิ่มขึ้น 5.80 จุด หรือ +1.23%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,005.07 จุด เพิ่มขึ้น 77.44 จุด หรือ +1.12%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,636.40 จุด เพิ่มขึ้น 160.05 จุด หรือ +1.03% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,260.61 จุด เพิ่มขึ้น 89.86 จุด หรือ +1.25%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ทะยานขึ้นขานรับธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.25% ซึ่งนับเป็นธนาคารรายใหญ่รายแรกที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาดในปีที่ผ่านมา
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,260.61 จุด เพิ่มขึ้น 89.86 จุด หรือ +1.25%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับสัญญาน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.51 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2564
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 75.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งกว่า 30 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 33.7 ดอลลาร์ หรือ 1.91% ปิดที่ 1,798.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 94 เซนต์ หรือ 4.36% ปิดที่ 22.485 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 34.7 ดอลลาร์ หรือ 3.88% ปิดที่ 928.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 171.20 ดอลลาร์ หรือ 11% ปิดที่ 1,722.80 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวานนี้ ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด ขณะที่สกุลเงินยูโรแข็งค่า หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรในการประชุมเมื่อวานนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.48% แตะที่ 96.0498 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1324 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1272 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3308 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3235 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7171 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7142 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.59 เยน จากระดับ 114.08 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9193 ฟรังก์ จากระดับ 0.9257 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2795 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2873 ดอลลาร์แคนาดา