“ฟินันเซีย” มองบวกกลุ่ม “เวชภัณฑ์” ชูเป้า WINMED สูง 7.80 บ. มองกำไรปี 65 โตเกือบเท่าตัว!

“บล.ฟินันเซีย ไซรัส” มองบวกหุ้นกลุ่ม “เวชภัณฑ์-อาหารเสริม” แนะนำ "ซื้อ" WINMED เคาะราคาเป้าหมาย 7.80 บ. มองกำไรปี 65 โตก้าวกระโดดกว่า 90% เทียบกับปีนี้


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ กลุ่มยา และอาหารเสริม หลังเป็นเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงหลังยุค COVID-19 คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายแต่คนทั่วโลกยังคงหันมาใส่ใจในสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลจากโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติเก่า

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ มองว่าทิศทางของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเปิดโอกาสให้แก่พืชพันธุ์ของไทย ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรแล้วกว่า 1,800 ชนิด แม้ว่าผู้ประกอบการในตลาดจะมีเป็นจำนวนมากมีการแข่งขันสูง แต่อุปสงค์ที่เติบโตแข็งแกร่งเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ใส่ใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรมและคุณธรรมจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม แม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแทบจะทุกภาคส่วนทั่วโลก แต่อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมไม่กี่ประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้เกิดเทรนด์รักสุขภาพซึ่งเป็น New normal ผู้บริโภคหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพในเชิงป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น

โดยในช่วงก่อนที่จะเกิดการอุบัติของโรคระบาด ความต้องการวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของวัย Euromonitor International คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมจะเติบโต เฉลี่ย 5.7% CAGR ในช่วงปี 2564-68 สูงกว่าในช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่โตเฉลี่ย 3.4% CAGR

สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพในไทย Euromonitor International คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.2% CAGR ใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดที่คาดว่าจะเติบโตเร็วที่สุดคือตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (มีส่วนแบ่งตลาด 29.3%) โดยคาดโตเฉลี่ย 8.4% CAGR

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากสุด 42.5% คาดว่าจะขยายตัวช้าๆ เฉลี่ย 2.6% CAGR อย่างไรก็ดี กระแสความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติมีมากขึ้น จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่มีพืชพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 20,000 ชนิดที่สามารถนำมาใช้ ประโยชน์เป็นสมุนไพร และอาจช่วยให้ตลาดโดยรวมเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในอุตสาหกรรมมีจำนวนมากทั้งที่เป็นผู้ประกอบการของคนไทยและต่างชาติ รวมถึงยาราคาถูกที่นำเข้าจากจีนและอินเดีย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มถึง 44.0% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ยิ่งทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรง แต่เชื่อว่าความต้องการมีมากพอที่จะรองรับผู้ประกอบการจำนวนมากได้

โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนผู้สูงอายุและความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงช่องทางการรักษาที่ดีขึ้น การขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และพฤติกรรมที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เทรนด์ที่มาแรง

ทั้งนี้ หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงหลังยุค COVID-19 คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายแต่คนทั่วโลกยังคงหันมาใส่ใจในสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลจากโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติเก่า ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุน Overweight และเลือกบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA และบริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) หรือ HL เป็น Top picks จากแบรนด์ที่แข็งแกร่งของ MEGA และ Valuations ถูก ขณะที่ HL มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากความพร้อมในหลายๆ ด้าน

โดยในบรรดาโรงงานผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร MEGA มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ มีตลาดกระจายอยู่ในหลายภูมิภาต และมีโรงงานผลิตยาในหลายประเทศ ถือเป็นการ กระจายความเสี่ยงที่ดี ทำให้กำไรของ MEGA ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ค่อยสร้างเซอร์ไพรส์ในทางลบให้กับตลาด แม้ว่า MEGA จะมีอัตราการเติบโตของกำไรปี 2565-66 ต่ำกว่า บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP และ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP

ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อยู่ใน FSS Coverage มี 6 หลักทรัพย์ โดย 5 หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด MAI ได้แก่ (IP, JP, SMD, WINMED) และ 1 หลักทรัพย์อยู่ใน SET กลุ่ม Commerce (MEGA) ซึ่งทั้ง 6 บริษัทไม่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยตรงเพราะไม่ได้มีธุรกิจเหมือนกันทั้งหมด

ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันมากที่สุด ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการที่มีโรงงาน มีแบรนด์ของตนเอง และ รับจ้างผลิตให้แก่บุคคลภายนอก ได้แก่ IP, JP, MEGA ผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องและชุดอุปกรณ์สำหรับการรักษาทางการแพทย์ ได้แก่ SMD และ WINMED และ 3) ผู้ประกอบการที่ดำเนิน ธุรกิจร้านขายยา ไม่มีโรงงานผลิตแต่มีหน้าร้าน ได้แก่ HL

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับหุ้นบริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ WINMED ว่า ในช่วงที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาด และมีมาตรการคุมเข้มต่างๆ ทั้งเคอร์ฟิวส์และ Lockdown เป็นผลลบอย่างมากต่อการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากรายได้หลักราว 60% มาจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหิต (Blood Banking และ Blood Safety) และอีกกว่า 30% มาจากผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี

อย่างไรก็ดีด้วยการปรับตัวอย่างรวดเร็วของบริษัทด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในยุโควิด เช่น ชุดตรวจเชื้อโควิด ได้แก่ Biocredit Covid-19 Antigen และ Joysbio ประกอบกับการได้รับเงินปันผลจาก ProLab (WINMED ถือ 12.55%) จำนวน 11.3 ล้านบาทในไตรมาส 3/2564 ทำให้ผลประกอบการทั้งปี 2564 ไม่ได้ต่ำกว่าที่บล.ฟินันเซีย ไซรัส เคยประเมินมากนัก

สำหรับกำไรจากการดำเนินงานหลักในไตรมาส 4/2564 ซึ่งเป็นช่วงเปิดเมืองมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน แต่เนื่องจากไม่มีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมในไตรมาสนี้ ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4/2564 จะลดลงราว 25-30% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และทำให้กำไรสุทธิทั้งปี 2564 เป็น 59.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยที่ประมาณ 15% มาจากเงินปันผลรับจาก ProLab

นอกจากนั้นคาดว่ากำไรปี 2565-2566 จะเติบโตก้าวกระโดด 90.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 52.1% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของธุรกิจเดิมและ New S-Curve ได้แก่ 1) ห้องแล็บสำหรับตรวจเชื้อ COVID-19 แบบ RT-PCR และ TMA ที่เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 หลังได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นที่เรียบร้อย 2) แล็บตรวจครบวงจรเชื้อ HPV และ STD (โรคติดต่อทางเพศ) ซึ่งจะเริ่ม Soft launch ต้นเดือนธ.ค.2564 และ Official launch ไตรมาส 1/2565 และ 3) แล็บสำหรับการผลิตยา (Immunotherapy การรักษาโรคโดยอาศัยการทำงานของภูมิคุ้มกัน) คาดก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการในไตรมาส 3/2565 รวมถึงการสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ยังคงราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 7.80 บาท อิง PE Multiple 27 เท่า Discount ราว 17% จากผู้ประกอบการในต่างประเทศ และคิดเป็น PEG 0.64 จากคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2567) ที่ 42% CAGR ยังคงแนะนำ “ซื้อ”

ขณะที่ นายนันทิยะ ดารกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WINMED เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในช่วงไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะเห็นการเติบโตดีต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากความคืบหน้าของการกระจายฉีดวัคซีนทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ประกอบกับธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพมากขึ้น

อีกทั้งโครงการ สปสช.เร่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หนุนธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี รวมถึงความกังวลของประชาชนลดลง สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ธนาคารโลหิต กลุ่มผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยทางโลหิต ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้บริษัทฯ เริ่มให้บริการ “WINMED LAB” ห้องปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส และยืนยันผลด้วยระบบ RT-PCR และ TMA (Transcription Mediated Amplification) ซึ่งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองการตรวจทั้งสองระบบ สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ทุกสายพันธุ์รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ร่วมกับบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกนอกสถานที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เสริมศักยภาพธุรกิจ

นอกจากนั้น บริษัทฯ เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) แบรนด์ LITUO สำหรับตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างจากทางโพรงจมูกส่วนปลายและเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย ที่มีประสิทธิภาพความแม่นยำสูงและใช้งานง่าย สามารถตรวจจับหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน รวมถึงสายพันธุ์ โอไมครอน ที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านขายยา โรงพยาบาลสถานพยาบาลทั่วประเทศ ในช่วงไตรมาส 4/2564

โดยก่อนหน้าบริษัทฯ ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบรนด์ JOYSBIO สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสำหรับตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์มีกระแสตอบรับที่ดี ได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง อีกทั้ง จัดหาและเตรียมออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่กลุ่มป้องกันเชื้อไวรัสเข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการประชาชนในวงกว้าง ช่วยสร้างรายได้ให้บริษัท เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 145.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 144.49 ล้านบาท จำนวน 0.70 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.49% และมีกำไรสุทธิ 27.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 16.59 ล้านบาท จำนวน 10.43 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น  62.88%

ขณะที่ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 380.52 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 390.19 ล้านบาท จำนวน 9.67 ล้านบาท หรือลดลง 2.48% และมีกำไรสุทธิ 41.49 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 32.94 ล้านบาท จำนวน 8.56 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.98%

Back to top button