EFORL รวมพาร์ 0.75 บ. ออกวอร์แรนท์ 2 ชุด ระดมเงิน 2.1 พันลบ. ลุยธุรกิจเครื่องมือแพทย์
บอร์ด EFORL ไฟเขียวรวมพาร์เป็น 0.75 บ. จากเดิม 0.075 บ. พร้อมออกวอร์แรนท์ 2 ชุด จัดสรรผู้ถือหุ้นเดิม 1,199 ล้านหุ้น ระดมเงิน 2.1 พันลบ. ลุยต่อยอดธุรกิจเครื่องมือแพทย์ มั่นใจหนุนรายได้ปี 65 โตต่อเนื่อง
นายปรีชา นันท์นฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จํากัด (มหาชน) หรือ EFORL ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้โดยการรวมมูลค่าที่ตราไว้ (รวมหุ้น) จากเดิมมูลค่าหุ้นละ 0.075 บาท เป็นหุ้นละ 0.75 บาท
โดยการรวมหุ้นส่งผลให้จำนวนหุ้นของบริษัทลดลงจำนวน 35,980,784,508 หุ้น จากเดิมจำนวน 39,978,649,453 หุ้น เป็นจำนวน 3,997,864,945 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.75 บาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ลดลงในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยการรวมพาร์ในครั้งนี้ เพื่อปรับมาตรฐานบริษัทให้ดียิ่งขึ้นสอดคล้องกับกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับในเรื่องราคาพาร์ขั้นต่ำ และเครื่องหมาย C
ขณะที่บอร์ดได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 899,519,612.25 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.75 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2,998,398,708.75 บาท เป็น 3,897,918,321.00 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,199,359,483 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.75 บาท เพื่อนำไปจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญรุ่นที่ 5 (EFORL-W5) จำนวนไม่เกิน 799,572,989 หน่วยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม (Right Offering) ในอัตราส่วน 5 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยมีราคาเสนอขายต่อหน่วยเท่ากับ 0.40 บาท อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 ปี นับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และราคาใช้สิทธิจะเท่ากับ 1.00 บาท
รวมทั้งพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 6 (EFORL-W6) จำนวนไม่เกิน 399,786,494 หน่วยให้แก่ถือหุ้นเดิมที่ใช้สิทธิจองซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ รุ่นที่ 5 (EFORL-W5) ตามสัดส่วน 2:1 ( 2 หน่วย EFORLW5 ต่อ 1 หน่วย EFORL-W6) โดยเสนอขายโดยไม่คิดมูลค่าอายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปีนับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และราคาใช้สิทธิจะเท่ากับ 2.50 บาท
“วัตถุประสงค์เพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำเงินทุนดังกล่าวใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับ IOMT (Internet of Medical Things) และลดสัดส่วน D/E Ratio ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน และหากบริษัทได้รับเงินจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิและผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเต็มจำนวน บริษัทจะสามารถระดมทุนได้เป็นเงินจำนวนประมาณ 2,100 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี” นายปรีชากล่าว
โดยแนวโน้มธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวโดยเฉพาะธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท โดยภายในไตรมาส 4/2564 บริษัทเตรียมจะส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล มีมูลค่ารวม 500 ล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้เกินเป้าหมายที่วางไว้ 2,000 ล้านบาท
สำหรับปี 2565 บริษัทมีเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการขาย และขยายตลาดในส่วนของฐานลูกค้าเดิม และกลุ่มลูกค้าใหม่ รวมทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง มีการเติบโตได้ ทั้งยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย