“หอการค้าฯ” คาดปีใหม่ 65 เงินสะพัด 8.5 หมื่นลบ. ต่ำสุดรอบ 12 ปี
“หอการค้าฯ” คาดปีใหม่ 65 เงินสะพัด 8.5 หมื่นลบ. ต่ำสุดรอบ 12 ปี เหตุกังวลโอมิครอนแพร่ระบาดหนัก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 65 คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศราว 85,796.49 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากปีก่อน โดยถือว่าปีนี้ต่ำสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา เป็นผลจากปัจจัยความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 49,642.57 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า-เลี้ยงสังสรรค์-ทำบุญ รวม 36,153.92 ล้านบาท
สำหรับของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ 3 อันดับแรก คือ ซื้อกระเช้าของขวัญ รองลงมา คือ ซื้อของรับประทาน และซื้อเครื่องดื่มบำรุง ส่วนการเดินทางออกไปท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นั้น พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5,445.28 บาท/คน ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,508.32 บาท/คน
ทั้งนี้ ประชาชน 33% มองว่าเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะคึกคักพอๆ กับปีที่แล้ว แต่ประชาชน 27% มองว่าปีใหม่ปีนี้ไม่คึกคัก ในขณะที่ประชาชน 23% มองว่าปีใหม่จะคึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว และมี 17% ที่ตอบว่าปีใหม่จะคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ประชาชนมองว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 71.2% ส่วนการแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 68.3% และภาระหนี้สินมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 43.2%
สำหรับสิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากสุดใน 5 อันดับ คือ อันดับแรก บริหารประเทศอย่างโปร่งใส ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง อันดับสอง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพอันดับสาม จัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น คนละครี่ง ชิมช้อปใช้ เป็นต้น อันดับสี่ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศ และอันดับห้า แก้ปัญหาการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
โดยสิ่งที่อยากให้รัฐดำเนินการในปี 65 อันดับแรก คือ เรื่องการดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม รองลงมา คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอันดับสาม เรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน
ทั้งนี้ ประชาชนได้ประเมินผลการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา สามอันดับแรกที่สามารถจัดการได้ดี คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองลงมา คือ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ และอันดับสาม การแก้ไขปัญหาสังคม
นอกจากนี้ เมื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 65 เมื่อเทียบกับปี 64 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 28.4% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงมาก รองลงมาประชาชน 26.5% มองว่าจะเหมือนเดิม ส่วนอีก 25.4% มองว่าแย่ลงเล็กน้อย มีเพียง 0.1% ที่มองว่าดีขึ้นมาก สำหรับการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจ รองลงมาประชาชนมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวในระดับ 2.51-3.00%
ในส่วนของมาตรการของรัฐ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ขยายเวลาการใช้มาตรการคนละครึ่งมากที่สุด รองลงมา คือ โครงการช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอน พบว่า ประชาชนมีความกังวล 72.7% และไม่กังวล 27.3% ซึ่งความกังวลดังกล่าว ส่งผลต่อการตัดสินใจไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ถึง 59.6%
“ก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยคาดการณ์ผิดคาด จากเดิมที่คาดว่าการใช้จ่ายปีใหม่จะอยู่ในกรอบเดิมประมาณ 120,000-140,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนเข้ามา, การยกเลิกTest&Go ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมาช่วงปีหน้า รวมถึงมีการคำนวณรวมไปถึงสถานการณ์ที่อาจมีการงดเคาท์ดาวน์ ซึ่งรัฐเองก็มีการส่งสัญญาณมาพอสมควร การใช้จ่ายของปี 65 จึงอยู่ที่ประมาณ 86,000 ล้านบาท ซึ่งโอมิครอนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การใช้จ่ายหายไปถึง 30,000-50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ 86,000 ล้านบาท ก้ต้องขึ้นอยู่กับบรรยากาศจริง ซึ่งอาจลดลงได้อีกประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท” นายธนวรรธน์ กล่าว
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,244 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 14-23 ธ.ค. 64