ย้อนรอย SCB สู่ยานแม่ “SCBX”-ดีลคริปโต เพิ่มมูลค่า ดันมาร์เก็ตแคป 1 ล้านล. ใน 5 ปี

ย้อนรอย! SCB สู่ยานแม่ " SCBX" ปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ และสามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดการเติบโตได้ อีกทั้งดีลคริปโต “บิทคับ” สร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งเป้ามาร์เก็ตแคป 1 ล้านล.ใน 5 ปี


นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้เดินหน้าทำดีลต่างๆกับบริษัทหลายแห่งและมีการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อขยายขอบเขตของธุรกิจ รวมทั้งแผนการการปรับธุรกิจเดิมให้เป็นแบบใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นธนาคาร แต่เป็น “ยานแม่ฟินเทค” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสู่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดย “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงขอนำทิศทางการปรับเปลี่ยนองค์กรของบริษัทฯ พร้อมกับตัวอย่างดีลใหญ่แห่งประวัติศาสตร์

เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของ SCB ที่จะก้าวสู่การเป็นยานแม่ SCBX นั้น นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ได้เปิดแถลงข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ไล่เรียงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัว กระบวนการปรับเปลี่ยนของ SCB สู่ SCBX และเส้นทางธุรกิจในอนาคตที่เชื่อมั่นว่าจะมีความรุ่งโรจน์รออยู่เบื้องหน้า

ทั้งนี้หากจำกันได้ก่อนหน้า SCB ได้ปรับลดสาขาและปลดพนักงานลงกว่าครึ่งมาก่อนหน้าเมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว นั่นเป็นที่ชัดเจนว่าธนาคารในรูปแบบเดิมกำลังหมดอนาคต ถ้อยแถลงของซีอีโอ SCB ชวนมองย้อนให้เห็นแนวโน้มของการถูก disrupt ว่าเริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อน และจะชัดเจนมากในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยประเมินว่า ประมาณปี 2568 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด-19

รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในแบบการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมลดบทบาทลง เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของลูกค้าได้ ความสำคัญของแบงก์จะลดลงและกระทบต่อมูลค่าธุรกิจในอนาคต

สำหรับแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้ SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ถือว่าถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า SCB จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

โดยหากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

อีกทั้งเมื่อมองทิศทางธุรกิจในอนาคตที่แจ่มชัด บอร์ด SCBได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เห็นชอบให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อขอความเห็นชอบในประเด็นการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นบริษัทแม่ในชื่อ SCBX ที่ไม่ใช่ธนาคารเท่านั้น แต่เป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) มีบทบาทเป็น Tech Company และยังจะขอมติผู้ถือหุ้น SCB ในการแลกหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้น SCB ไปเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน โดยออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2565 จากนั้นจะนำ SCBX ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพิกถอนหุ้น SCB ออกจากตลาด โดย SCBX จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น SCB แทน

นอกจากนี้ บอร์ดมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้น SCB เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 70,000 ล้านบาท โดยสัดส่วน 70% จะใช้ในการทำเรื่องการโอนธุรกิจ จัดตั้งบริษัทใหม่ และการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจการและการเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 30% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและจ่ายเงินปันผลในรอบปี 2565

ทั้งนี้การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นั้นเพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ธนาคารเรียกว่าเป็น “ยานแม่” หรือ “Mother hood” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นการปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดการเติบโตได้

สำหรับกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง

ส่วนการแปลงสภาพธนาคารในความหมายใหม่ให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งยังจะยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่

โดยหลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มในระยะยาว สำหรับการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจภายใต้การดำเนินการของ SCBX จะมีการนำธุรกิจในเครือของ SCB เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยต่างๆราว 15-16 บริษัท เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น และสามารถรุกขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดีหากขมวดการจัดทัพกลุ่มธุรกิจใหม่ภายใต้ SCBX ของสื่อบางสำนัก จะแยกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่ม Cash Cow คือ ธุรกิจธนาคาร SCB ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ SCBX เป็นกลุ่มสร้างผลกำไรที่ดีและสนับสนุนเงินทุนให้ SCBX ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งธุรกิจการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารในกัมพูชา, เมียนมา, บริษัทบริหารสินทรัพย์ รัชโยธิน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM), SCB Protect , ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์, ไทยพาณิชย์พลัส

ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นกลุ่ม New Growth กลุ่มธุรกิจแฟลกชิปผลักดันการเติบโต เพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนด้าน Digital Asset และ Digital Platforms โดยแยกเป็น กลุ่ม Consumer Finance และ Digital Financial เช่นการจัดตั้งบริษัทออโต้ เอกซ์, บริษัทคาร์ด เอกซ์, บริษัทบริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอกซ์ และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์และกลุ่ม Digital Platforms และ Technology Services ประกอบด้วย บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส, บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์, บริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส, บริษัทโทเคน เอกซ์, บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์, บริษัท เอสซีบี อบาคัส, บริษัท มันนิกซ์, บริษัท เอไอเอสซีบี, บริษัทร่วมทุน AIS และบริษัทร่วมทุนเครือซีพี SCB-CP

อนึ่งหากดูโครงสร้างธุรกิจในกลุ่ม New Growth ส่วนหนึ่งจะมาจากการโอนธุรกิจที่อยู่กับ SCB แตกเป็นบริษัทลูก เช่น Card X รับโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล Auto X ธุรกิจสินเชื่อรถ ลิสซิ่ง, กลุ่มธุรกิจเดิมที่ SCB ถือหุ้นอยู่แล้วด้าน Digital Asset ผ่านบริษัท SCB 10X ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery ผ่านบริษัท Purple Ventures ธุรกิจหลักทรัพย์ ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน SCB security ซึ่งเป็นเรือธงในกลุ่มธุรกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

รวมทั้งการลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ AIS จัดตั้ง AISCB เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ (digital lending) และบริการทางการเงินอื่นๆ และการร่วมทุนกับ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ จัดตั้ง Alpha X บริการธุรกิจให้เช่าซื้อ ลิสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (Big Bike) เรือยอชต์ และ River Boat รวมทั้งการร่วมทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ

ส่วนรูปแบบการลงทุนของ SCBX จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ SCBX แม้ว่าจะเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีธุรกิจในเครือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงิน และในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลูกค้ายังคงใช้บริการเงินฝาก สินเชื่อ และบริการอื่นๆ ยังคงให้บริการลูกค้าเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็น SCBX ตามแผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 2568 ตั้งเป้าขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งจะครอบคลุมการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด (Market Cap) ของ SCBX แตะ 1 ล้านล้านบาท

หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีแผนการปรับธุรกิจออกมาแล้วนั้น ทางบริษัทฯ ก็ได้มีการประกาศการเข้าลงทุนครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา โดยเรียกได้ว่าเป็นขยายธุรกิจที่ฉีกกฎต่างจากเดิม คือการเข้าซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเทรดบนกระดานเฉกเช่นหุ้น

ถัดมาดีลใหญ่เกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 บริษัทฯ ได้แจ้งประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จากัด (SCBS) ครั้งที่ 13/2564 ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติอนุมัติให้ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub)จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จากัด (“ผู้ขาย”) ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท รวมเรียกว่า “ธุรกรรมการซื้อขายหุ้น”

สำหรับ Bitkub เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็นผู้นำในด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2564 ที่ผ่านมา Bitkub มีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่รายงานต่อสานักงาน ก.ล.ต. รวมประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 92

โดยในช่วง 9 เดือนดังกล่าว Bitkub มีรายได้รวม 3,279 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,533 ล้านบาท การเข้าลงทุนใน Bitkub เนื่องจากการเล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และยังช่วยให้ SCBS ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Bitkub มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล ในประเทศไทยอนึ่ง ธนาคารคาดการณ์ว่าการเข้าทำการซื้อหุ้นใน Bitkub โดย SCBS จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565

อย่างไรก็ดี “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” คาดจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในปี 2565 ซึ่งคาดอาจจะเสร็จสิ้นกระบวนการของการเข้าซื้อหุ้นบิทคับ ที่อาจช่วยเพิ่มมูลค่าต่างๆให้แก่บริษัทฯ ได้เป็นจำนวนมากรวมถึงอาจจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

Back to top button