“กรมสรรพากร” เปิด 7 สูตรรีดภาษีคริปโต! รางวัลชิงโชคก็โดนด้วย

กรมสรรพากรเปิดสูตร เก็บภาษี Capital Gain จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” กรณีซื้อขาย-แลกเปลี่ยน รวมทั้งชำระค่าสินค้า-บริการ ต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% ได้รางวัลชิงโชคก็โดนด้วย 5% และกรณีฝากเหรียญเอาดอกเบี้ยจ่าย 15% ส่วนรับมรดกยกเว้นภาษี ด้านนิติบุคคลไม่รอดต้องจ่ายภาษีด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่กรมสรรพากร มีความชัดเจนที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2565 ล่าสุดกรมสรรพากรได้สรุปแนวทางการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี ไว้ดังนี้

1.กรณีกำไรจากการขาย หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี (Capital Gain) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ผู้ขายมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

2.กรณีนำคริปโตเคอร์เรนซี ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยมูลค่ามากกว่าตอนที่ได้มา ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ฌ) ผู้ที่ชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

3.กรณีได้รับจากการให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) แบ่งเป็น กรณีทั่วไปผู้ได้รับต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับกรณีนี้ผู้ให้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ขณะที่บางกรณีเป็นเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว หรือ Final withholding tax และ กรณีได้รับยกเว้นภาษีไม่ต้องยื่นแบบ แต่ตอนขายต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ที่จ่ายรางวัลชิงโชคเป็นคริปโตเคอร์เรนซี 1,000 บาท ขึ้นไป มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

4.กรณีได้รับทางมรดก ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ตอนได้รับมรดก และตอนขาย ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

5.กรณีได้รับจากการทำงาน ถือเป็นเงินได้ทุกประเภท ผู้ได้รับมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ถ้ามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5)-(8) ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 กรณีนี้อาจต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

6.กรณีขุดเหรียญ (Mining) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ผู้ขุดชนะ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.94

7.กรณีการฝากเหรียญเอาดอกเบี้ย (Staking) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ช) ผู้ฝากมีหน้าที่ต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด.90 ตัวกลางรับแลกเปลี่ยน หรือ Exchange มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ด้าน นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) กรมสรรพากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ในส่วนของบุคคลธรรมดา จะแบ่งเป็น 1.เก็บตามแหล่งเงินได้ในประเทศ โดยการขายคริปโตฯ ในประเทศทุกรายการถ้ามีกำไร จะต้องเสียภาษี ตามมาตรา 40 (4) (ฌ)

2.เก็บตามแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัย กรณีที่ขายคริปโตฯ ในต่างประเทศ และมีกำไร แล้วนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ในปีภาษีนั้น ๆ ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ถ้าอยู่เกิน 180 วัน

ขณะที่นิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีด้วย  โดยสามารถนำไปคำนวณเป็นรายได้ รวมกับรายได้อื่น ๆ ถ้าหากมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ในอัตราของนิติบุคคล

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีการซื้อขายร้อนแรงในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. JFIN ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,092% นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564 2. KUB ราคาปรับขึ้น 1,312% นับจากวันที่ 21 พ.ค. 2564 ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2564 และ 3. SIX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,500% นับจาก 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยกำไรจากการขายจะต้องนำไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ และต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

โดยก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2564 แบบออนไลน์ ที่เริ่มยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 นั้น มีการปรับรูปแบบให้มีความง่ายและชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อเข้าไปในระบบจะมีช่องให้กรอกข้อมูลรายได้เพิ่มเติมจากเดิม อาทิ เงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ

ทั้งนี้ การที่กรมสรรพากรกำหนดให้แจ้งเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุให้เก็บภาษีจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ที่ผ่านมารูปแบบการยื่นภาษีออนไลน์ยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มีการปรับรูปแบบใหม่ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้เสียภาษีจำนวนมากมีเงินได้และกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเพิ่มขึ้น

สำหรับการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ที่มาจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติของกรมสรรพากร ซึ่งผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินตัวเอง และต้องแจ้งข้อมูลรายได้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีเงินได้จากทางไหนบ้างให้ครบถ้วน

ส่วนของกรมสรรพากรก็มีระบบบิ๊กดาต้า (big data) ที่จะมีการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการยื่นภาษีไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อนำมาวิเคราะห์ พิจารณา เพื่อให้แจ้งให้ผู้เสียภาษี ดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วนต่อไป โดยกรมสรรพากรมีอำนาจในการประเมินภาษีเงินได้ย้อนหลัง 10 ปี ดังนั้น ผู้เสียภาษีควรยื่นแบบและชำระภาษีให้ถูกต้อง เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

Back to top button