สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 400 จุดในวันพุธ (5 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงรุนแรงที่สุดในรอบ 11 เดือน หลังจากรายงานการประชุมเดือนธ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,407.11 จุด ลดลง 392.54 จุด หรือ -1.07%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,700.58 จุด ลดลง 92.96 จุด หรือ -1.94% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,100.17 จุด ลดลง 522.54 จุด หรือ -3.34%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกทำนิวไฮต่อเนื่องในวันพุธ (5 ม.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มรถยนต์ แม้การทะยานขึ้นของตลาดในช่วงปีใหม่เริ่มชะลอลงท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 494.35 จุด เพิ่มขึ้น 0.33 จุด หรือ +0.07%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,376.37 จุด เพิ่มขึ้น 58.96 จุด หรือ +0.81%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,271.75 จุด เพิ่มขึ้น 119.14 จุด หรือ +0.74% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,516.87 จุด เพิ่มขึ้น 11.72 จุด หรือ +0.16%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (5 ม.ค.) เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นกลุ่มน้ำมันและกลุ่มเหมืองแร่ แต่นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินในสหรัฐ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,516.87 จุด เพิ่มขึ้น 11.72 จุด หรือ +0.16% ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ในวันพุธ (5 ม.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิม ในการประชุมนโยบายการผลิตเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 77.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2564
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 80.80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2564
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (5 ม.ค.) เนื่องจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับราคาทองคำด้วย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 10.5 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,825.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 11.4 เซนต์ หรือ 0.49% ปิดที่ 23.17 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 30.7 ดอลลาร์ หรือ 3.16% ปิดที่ 1,001.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 42.90 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 1,902.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ลดช่วงลบ หลังจากรายงานการประชุมเดือนธ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.10% แตะที่ 96.1674 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1312 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1289 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3560 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3535 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7223 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7241 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 116.13 เยน จากระดับ 116.11 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9173 ฟรังก์ จากระดับ 0.9162 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2755 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2705 ดอลลาร์แคนาดา