“เอเซียพลัส” อัพเป้า JMART-JMT สนั่น! สะท้อนกำไรปี 65-66 โตแกร่ง

“เอเซียพลัส” อัพราคาเป้าหมาย JMART มาที่ 63.50 บ. ส่วน JMT เป้าใหม่ที่ 80 บ. พร้อมปรับประมาณกำไรปี 65-66 ขึ้น สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่ง


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (7 ม.ค.65) เกี่ยวกับบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ภายหลังเข้าร่วมงานแถลงข่าว JMART Group Business Direction 2022 ภาพรวมออกในเชิงรุก โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทที่ต้องการก้าวสู่การเป็น Technology Investment Holding Company ซึ่งจะเป็นแนวคิดสำคัญขับเคลื่อนเดินหน้าตามเป้าหมายที่ต้องการขยายฐานกำไรแบบทวีคูณ J Curve ปีละ 50% ใน 3 ปีนับจากนี้

โดยภาพรวมธุรกิจกลุ่ม JMART ในปัจจุบันนับได้ว่ามีความพร้อมก้าวสู่ในวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยฐานการเติบโตดังกล่าวจะมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจปัจจุบัน คือ ค้าปลีก (Retail) และการเงิน (Finance) โดยในปี 2565 จุดเริ่มต้นของการเติบโตจะมาจากแรงขับเคลื่อนที่ได้เงินทุนและพันธมิตรรายสำคัญอย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แม้ในส่วนเงินทุนที่ได้ทั้งหมด 1.0 หมื่นล้านบาท จะแบ่งราว 6.3 พันล้านบาท ไปขยาย ดังนี้

1) ธุรกิจ Finance ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นไปตามคาดและได้รวมในประมาณการแล้ว กล่าวคือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT (ถือหุ้น 53.9%) กำหนดเป้าหมายเติบโตเกิน 45% โดยจะซื้อหนี้เข้ามาติดตามเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท และยังไม่รวม Upside จากการร่วมทุนกับ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK

รวมถึง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER (ถือหุ้น 26.5%) กำหนดเป้าหมายปี 2565 เติบโต 75% เป็นการนำเงินที่ได้จาก BTS ไปขยายฐานสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเพิ่มจุดขายเป็น 7,000 จุด จาก 3,500 จุดสิ้นปี 2564 และเพิ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำลง เพราะไม่ต้องก่อหนี้เหมือนที่ผ่านมา

อีกทั้ง KBJ (ถือหุ้น 49%) ที่กำหนดเป้าหมายเติบโตเท่าตัว (ใกล้เคียงที่กำหนดในประมาณการ) จากการขยายตัวทั้งธุรกิจเดิม (สินเชื่อบริโภค บัตรเงินสด) และใหม่ อาทิ บัตรเครดิต และ Digital Lending

2) ธุรกิจค้าปลีก (Retail) แผนการขยายตัวไปในเชิงรุกกว่าฝ่ายวิจัยคาดไว้เดิม

โดย J Mobile (ถือหุ้น 99%) กำหนดเป้าหมายปี 2565 ที่สูงถึง 50% และกำไรจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าฝ่ายวิจัยคาดไว้มาก โดยยอดขายคาดจะได้ประโยชน์ในแง่พันธมิตรใหม่ Fanslink บริษัทย่อยของ VGI ที่จำหน่าย Gadgets เข้ามา รวมถึงการเป็นตัวแทนขายจำหน่ายสินค้าไอที ประเภท Notebook และเกมกับ SYNEX ช่วยเพิ่มความหลากหลายสินค้าจากเดิมที่เน้นจำหน่ายมือถือ ภายใต้แนวทางการขายอำนวยความสะดวกเงินกู้ให้กับลูกค้า ทั้งผ่าน KBJ, SINGER โดยจะเน้นความสอดคล้องกับช่องทางทั้งกลุ่มที่นำสินค้าไปขาย ที่จะได้ประโยชน์อีกทางจากการใช้ช่องทางเดิมให้มีประสิทธิภาพ

ด้าน บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J (ถือหุ้น 66.07%) ประเด็นใหม่ เปิด Upside กำไร คือ จะเป็นช่องทางจำหน่ายบ้านมือ 2 ที่ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ยึดจากลูกค้า Secure Loan มาปรับปรุงใหม่เพื่อขาย ตั้งเป้าหมายมูลค่าขายปี 2565 ราว 100 ล้านบาท อื่นๆ ยังเป็นไปตามคาด อาทิ การเปิด Community Mall ใหม่ที่คู้บอนที่หนุนปี 2565 เต็มปี

ทั้งนี้ ทั้งหมดยังไม่รวมถึงแผนการสร้าง Ecosystem ธุรกิจปัจจุบันให้มีความแข็งแกร่งและใหญ่ขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเป็นฐานการเติบโตในปีถัดๆ ไป ร่วมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม (กล่าวถึงในลำดับถัดไป) จากการร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรใหม่ อาทิ

JMT ที่ประกาศแผนร่วมทุนกับ KBANK ที่คาดช่วยให้การซื้อหนี้เข้ามาติดตามระยะยาวเป็นไปด้วยความต่อเนื่องมากขึ้น และมีต้นทุนในการซื้อที่ต่ำลง

รวมถึงประเด็น SINGER และ JMART ที่ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่กำลังจะตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ถือหุ้นโดย GUNKUL 50% JMART 40% และ SINGER 10% ดำเนินธุรกิจระยะแรกขาย Solar Rooftop ให้ลูกค้า Hire Purchase ในต่างจังหวัดของ SINGER โดยเงินทุนที่จะใส่จะมาจากเงินเพิ่มทุนรอบใหม่จาก BTS ที่ยังเหลืออยู่ 3.6-3.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการนำเงินลงทุนดังกล่าวราว 2.0 พันล้านบาทไปใช้ในปี 2565

นอกจากนี้ เงินทุน 2.0 พันล้านบาท ยังมีแผนขยาย Ecosystem ในกลุ่มค้าปลีก ที่ลงทุนราว 25% ในบริษัทใหม่ JayDee ร่วมกับดีลเลอร์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ รุกขยายธุรกิจใหม่ และบริษัทใหม่ Thailand AmZ ที่เน้นธุรกิจ Retail and Finance Solution Platform ซึ่งจะประกาศรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ เชื่อว่า Ecosystem ของธุรกิจหลักในกลุ่ม คือ ค้าปลีกและการเงิน ให้กว้างและแข็งแรงขึ้นในปี 2565 นอกเหนือการใช้เทคโนโลยี J Venture (ถือหุ้น 66.7%) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปัจจุบัน ในระยะกลาง-ยาวจะเป็นฐานที่มความสำคัญที่ทางกลุ่มจะสามารถใช้เทคโนโลยี J Venture ที่มีการพัฒนา Platform เพื่อช่วยยกระดับการเติบโตระยะกลาง-ยาวของทั้ง 2 ธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบการเติบโตแบบทวีคูณต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อสะท้อนเป้าหมายการเติบโต J Mobile ในปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานไว้อนุรักษ์นิยมเกินไป เทียบกับกลยุทธ์บริษัทที่เพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายหลากหลาย ขณะที่เป็นการขายผ่านช่องทาง และอำนวยความสะดวกการเงินให้กับลูกค้าบนบริการปล่อยกู้ รวมทั้งประกันที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดประสิทธิภาพที่สูง จึงปรับเพิ่มกำไรปี 2565-66 ขึ้นจากเดิมปีละ 13.8% และ 10.7% หลังปรับ คาดกำไรปี 2565 อยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เติบโต 41.9% ถ้านับกำไรปกติจะเติบโตถึง 50.5% และเพิ่มอีกถึง 29.2% ในปี 2566 ซึ่งไม่รวม Upside จำนวนมาก จากการขยายตัวไปกับพันธมิตรใหม่ๆ

อาทิ JMTxKBANK ที่อาจจะมีสถาบันการเงินอื่นๆ อีกในอนาคต กรณี JMARTxSINGERxGUNKUL รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ทั้งการร่วมทุนกับดีลเลอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจหลักๆ ที่จะปรับขึ้นอยู่บน Platform มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐาน ภายใต้ประมาณการใหม่เป็น 63.5 บาท จากเดิม 42.2 บาท อิงวิธี Sum of The Part หลักๆ เป็นการปรับเพิ่มมูลค่าธุรกิจ J Mobile ขึ้นตามการปรับเพิ่มกำไร

ขณะที่ปรับเพิ่ม PER ที่ใช้ประเมินมูลค่าเป็น 38 เท่า (เดิม 22 เท่า) สะท้อนศักยภาพเติบโตก้าวกระโดดในระยะถัดไป จากหลากหลายพันธมิตรที่เข้ามาอยู่ใน Ecosystem ธุรกิจหลัก JMART ต่อเนื่อง และมูลค่าพื้นฐาน JMT เป็น 80 บาท (เดิม 56 บาท) โดยปรับเพิ่มสมมติฐาน PBV โดยปรับเพิ่มการเติบโตระยะยาว สะท้อนศักยภาพดีขึ้น หลังมีแผนเข้าร่วมทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่ง

ทั้งนี้ ภายใต้จุดเด่นทิศทางการต่อยอดธุรกิจต่อเนื่อง และโอกาสที่จะเป็นหุ้น Tech ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศในระยะกลาง-ยาว จึงคงคำแนะนำ ซื้อ แต่ภายใต้ Upside ที่เหลือไม่มาก การเข้าลงทุนอาจเน้นซื้อในจังหวะหุ้นอ่อนตัวเป็นสำคัญ

 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจหลักของ JMT จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว หนุนให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อแนวโน้มการจัดเก็บเงินสดเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ผลบวกจากพอร์ตหนี้ที่ซื้อมาบริหารเติบโตต่อเนื่องจนล่าสุด ณ สิ้น 3Q64 อยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งได้เริ่มทยอยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อีกทั้ง ยังได้ผลบวกจากหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดแล้ว (Fully amortized) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 4.95 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% จากสิ้นปี 2563 ทำให้การจัดเก็บหนี้จากกองหนี้ดังกล่าว JMT จะรับรู้เป็นรายได้และกำไรได้เลย เพราะตัดต้นทุนไปหมดแล้ว ส่งผลบวกต่อประสิทธิภาพการทำกำไรให้ดีขึ้นในงวดไตรมาส 4/64

ทั้งนี้ JMT ตั้งเป้าซื้อหนี้มาบริหารในปี 2565 เท่ากับ 1.0 หมื่นล้านบาท (สอดคล้องกับสมมติฐานการซื้อหนี้ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้) เนื่องจากประเมินว่าหนี้เสียในระบบมีมากกว่า 4 แสนล้านบาท ทำให้สถาบันการเงินจะนำหนี้เสียออกมาขายมากขึ้นในปี 2565

โดย JMT ได้ซื้อหนี้ไปแล้ว 7.1 พันล้านบาท (ต้นทุนการซื้อหนี้) ในงวด 9 เดือนแรกของปี 64 (ถือว่าอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับที่ JMT ซื้อหนี้ไป 3.5 พันล้านบาทในปี 2563) สอดคล้องกับเป้าหมายการซื้อหนี้ของ JMT ที่ 6 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564

นอกจากนี้ JMT กำลังเจรจาซื้อหนี้เพิ่มเติมอีกบางส่วนในงวดไตรมาส 4/64 ซึ่งปกติสถาบันการเงินจะนำหนี้ออกมาขายมากในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย. ของทุกปี โดย JMT เปิดเผยว่าการซื้อหนี้ในปี 2564 ยังเป็นปกติ ทั้งในด้านราคาและการแข่งขัน คือไม่ได้ถูกหรือแพงกว่าปีอื่นๆ มากนัก

สำหรับการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของ KBANK (บ. ย่อยของ KBANK) โดยในเบื้องต้นจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท เพื่อประกอบธุรกิจร่วมกัน 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจให้บริการงานติดตามหนี้ และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดย JMT จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 แห่ง น้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว (JMT จะรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม) และบริษัทย่อยของ KBANK จะถือหุ้นมากกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว JMT คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จในงวด 2Q65 และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทดังกล่าวตั้งแต่งวด 3Q65

โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า JMT จะได้ผลบวกจากปริมาณหนี้ที่จะบริหารเพิ่มขึ้นในระยะยาว และต้นทุนทางการเงินของบริษัทร่วมทุนจะลดลง เพราะคาดว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถกู้เงินจาก KBANK ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ JMT ที่ราว 4% ถือเป็น Upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2565-66 โดยฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมประเด็นดังกล่าวไว้ในประมาณการ

พร้อมกันนี้ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2565-66 ขึ้น 0.9% และ 2.5% จากเดิม (โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ไว้เช่นเดิม) สะท้อนการรวมสมมติฐานการใช้สิทธิแปลง JMT-W3 จำนวน 100 ล้านหน่วย (เนื่องจากราคาหุ้น JMT ปัจจุบันสูงกว่าราคาใช้สิทธิมาก) ซึ่งมีกำหนดใช้สิทธิวันสุดท้ายในวันที่ 16 พ.ค. 65 ที่ราคาใช้สิทธิ 41 บาท/หุ้น ทำให้ JMT จะได้รับเงินสดเข้ามาราว 4.1 พันล้านบาท และจะทยอยนำไปใช้หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย ทำให้แนวโน้มค่าใช้จ่ายทางการเงินในปี 2565-66 ลดลง 8.1% และ 24.3% จากเดิม

โดยภายหลังปรับเพิ่มประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2564-65 จะเพิ่มขึ้นถึง 24.4% เทียบกับปีก่อน และ 56.6% เทียบกับปีก่อน จากรายได้ธุรกิจบริหารหนี้เติบโต สอดคล้องกับพอร์ตลูกหนี้ และการตัดมูลค่าเงินลงทุนในลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่หมดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/64 จะเติบโตต่อเนื่องจากงวดไตรมาส 3/64 และขึ้นทำ New high เป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน จากแนวโน้มการจัดเก็บหนี้ได้เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และแนวโน้มการตัดมูลค่าเงินลงทุนในลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่หมดลงเพิ่มขึ้น (Fully Amortized) หนุนแนวโน้มประสิทธิภาพการทำกำไรดีขึ้น

พร้อมกำหนด Fair value ปี 2565 ใหม่เท่ากับ 80 บาท (เดิม 55 บาท) อิง Adj. PBV 4.7 เท่า (เดิม 3.7 เท่า) ตามวิธี GGM ภายใต้คาดการณ์ ROE เฉลี่ยระยะยาว 14.0% (เดิม 16.0%) โดยฝ่ายวิจัยมีการปรับ Terminal growth rate เพิ่มขึ้นเป็น 8.0% (เดิม 7.5%) สะท้อนแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นต่อเนื่องในระยะยาว และมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการเป็นพันธมิตรกับ KBANK ในการบริหารหนี้เสียในระยะยาว และมีโอกาสเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินอื่นได้อีกในอนาคต จึงปรับเพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อ (เดิม Switch) ลงทุนระยะกลางถึงยาว

Back to top button