ศบค. ยันไม่ล็อกดาวน์ เคาะเพิ่มพื้นที่สีส้ม 69 จว. แจงร้านฯเปิดปกติ งดดื่มแอลกอฮอล์
ศบค. ยันไม่ล็อกดาวน์ เคาะเพิ่มพื้นที่สีส้ม 69 จังหวัด แจงร้านอาหารเปิดปกติ งดดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่คงเดิม 8 จังหวัด (สีฟ้า) พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง และเพิ่มมาตรการสำหรับการบริโภคสุราในร้านอาหารไม่เกิน 23.00 น. และต้องปิดร้าน 24.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ม.ค. 2564) โดยมีรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมวันนี้โดยมีมติจากที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ในการพิจารณาปรับระดับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 เป็นต้นไป มีรายละเอียดดังนี้
1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 0 จังหวัด (สีแดงเข้ม)
2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด 0 จังหวัด (สีแดง)
3.พื้นที่ควบคุม จากเดิม 39 จังหวัด เพิ่ม 30 จังหวัด รวมเป็น 69 จังหวัด (สีส้ม) ประกอบด้วย กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชุมพร, ชัยนาท, ชัยภูมิ, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, ตาก, นครนายก, นครปฐม, นครพนม, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, นราธิวาส, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, พะเยา, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สงขลา, สตูล, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี และอุบลราชธานี
สำหรับจังหวัดในพื้นที่สีส้ม ที่มีผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในและนอกศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร สามารถบริโภคในร้านและเปิดได้ตามปกติ แต่ห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อตลาดและตลาดนัดยังสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ไม่มีการควบคุมการห้ามออกนอกเคหสถาน
4.พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด เหลือ 0 จังหวัด (สีเหลือง)
5.พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว คงเดิม 8 จังหวัด (สีฟ้า) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร , กาญจนบุรี, กระบี่, ชลบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา และภูเก็ต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวยังคงดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวตามปกติได้ แต่ให้ใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง และเพิ่มมาตรการสำหรับการบริโภคสุราในร้านอาหาร โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณากำหนดมาตรการและเพิ่มเวลาเพิ่มเติมได้ตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ศบค. ยังเพิ่มมาตรการการป้องกันควบคุมโรคโควิด โดยให้ขยายการ Work from Home ให้มีการปรับขยายเวลาออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนและการดำเนินการขององค์กร
อีกทั้งในที่ประชุมมีการปรับมาตรการป้องกันโรคโควิดสำหรับสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เปิดในรูปแบบร้านอาหาร โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ก่อนวันที่ 15 มกราคม 2565 โดยกำหนดเวลาให้บริการไม่เกินเวลา 21.00 น. และต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการประเภทสถานบันเทิง ผับ บาร์ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2565 คือ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า), พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยจะเปิดบริการจำหน่ายสุราไม่เกินเวลา 23.00 น. และทางร้านต้องเปิดบริการไม่เกินเวลา 24.00 น. พร้อมงดกิจกรรมให้บริการคาราโอเกะ งดจัดพื้นที่เต้นรำ ส่วนกลางงดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วร่วมกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขายการให้บริการและกิจกรรมที่มีการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า ส่วนพื้นที่สีส้มทั้ง 69 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร
ทั้งนี้สถานบันเทิงที่ต้องการเปิดดำเนินการต้องเคร่งครัดมาตรการ COVID-FREE Setting ที่กำหนดไว้โดยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม. ต้องกำกับและติดตามการเปิดให้บริการอย่างใกล้ชิด หากไม่มีการระบาดจากสถานบันเทิงให้เปิดดำเนินการต่อได้ แต่หากมีการแพร่ระบาดจากสถานบันเทิงจะมีการพิจารณาปิดดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมกับเน้นย้ำว่าหากเกิดการระบาดหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ให้พิจารณาปิดดำเนินการและกำหนดบทลงโทษ โดยเน้นย้ำว่า ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิง ที่จะเปิดดำเนินการได้ ต้องได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 15 มกราคม 2565 ก่อนจะเริ่มเปิดในวันที่ 16 มกราคม 2565
ขณะที่มาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องยกระดับ COVID-FREE Personal ซึ่งนักร้อง นักดนตรี พนักงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจคัดกรองพนักงานทุกคนด้วย ATK ทุก 3 วัน รวมถึงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทุกวันด้วย TST หรือแอปพลิเคชันที่กำหนด พร้อมกับถือปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA
พร้อมยังต้องลงทะเบียนและประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus เพื่อปฏิบัติการตามมาตรการ COVID-FREEe Setting ที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. กำกับติดตาม
นอกจากนี้จะต้องยกระดับ COVID-FREE Environment ปฏิบัติตามมาตรการ CFS สำหรับร้านอาหารและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดคอนเสิร์ตอย่างเคร่งครัด โดยขอให้ยึดหลักข้อปฏิบัติดังนี้
1.เน้นการทำความสะอาดพื้นที่ผิวสัมผัสห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง และทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสร่วมกัน
2.มีการจัดระยะห่างระหว่างโต๊ะอย่างน้อย 1 เมตร กรณีเล่นดนตรีเป็นวงมีระยะห่างระหว่างเวทีกับโต๊ะอาหารอย่างน้อย 5 เมตร มีพื้นที่ให้บริการ 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร และติดป้ายแสดงจำนวนผู้ใช้บริการให้เห็นอย่างชัดเจน โดยจะต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยหากเป็นพื้นที่ที่เป็นอาคารปิด มีระบบปรับอากาศ จำกัดจำนวนผู้ใช้ไม่เกินร้อยละ 50
3.ส่วนพื้นที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเท จำกัดจำนวนผู้ใช้ไม่เกินร้อยละ 75
4.จัดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ด้านนอกอาคาร
5.มีระบบระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ เปิดประตูหน้าต่างหรือระบายอากาศเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนและหลังให้บริการ
6.มีแสงสว่างเพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน
7.ห้ามกระทำการผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว
ขณะที่มาตรการการเดินทางเข้าราชอาณาจักร มีการยกเลิกในการกำหนดกลุ่มประเทศเสี่ยงเข้าราชอาณาจักร คือ ประเทศในทวีปแอฟริกาต้องมีการกักตัว และไม่อนุญาตให้ประเทศในแอฟริกาเดินทางเข้าไทย โดยสามารถเข้ามาได้เหมือนประเทศอื่นๆ และแนวทางที่กำหนดแต่ละรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 โดยการปรับการเข้าราชอาณาจักรในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจะรับลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 โดยผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าทั้งที่มีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองในการกักตัว 7 วัน รวมถึงการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง
ส่วนการปรับมาตรการลงทะเบียนและการเดินทางเข้าราชอาณาจักรในรูปแบบ Test & Go ให้ระงับการลงทะเบียนรูปแบบ Test & Go ออกไปก่อน โดยจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง รวมถึงระงับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยในรูปแบบ Test & Go ที่มีการขออนุญาตและอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ และจะเดินทางเข้าไทยหลังจากวันที่ 15 มกราคม 2565 ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 16,364 คน ที่ลงทะเบียนขออนุญาตไว้ตั้งแต่วันที่ 16-31 มกราคม 2565