IMH มองรายได้ปีนี้แตะ 1.2 พันล. สบช่อง Re-Open “ศูนย์พักคอย” รับคนไข้โควิด 200 เตียง
IMH ผนึกพันธมิตร Re-Open "ศูนย์พักคอย" รับคนไข้โควิด 200 เตียง พร้อมปรับแผนสู้ "โอมิครอน" ส่ง “รพ.ประชาพัฒน์" รองรับคนไข้เคสเหลือง-แดง ล้นทะลักจากกลุ่มคนป่วย 7 โรคเสี่ยง
ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH และประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลประชาพัฒน์ (บริษัทลูกของ IMH) ได้เปิดศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ อีกครั้ง (Re-Open) เพื่อรองรับคนไข้โควิด โดยศูนย์พักคอยฯ เริ่มเปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และมีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียงสนาม และ 9 เตียงความดันลบ
“ศูนย์พักคอยฯดังกล่าว เป็นการผนึกกำลังความร่วมกับเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ไทย, เขตราษฎร์บูรณะ และพันธมิตรต่างๆ โดยศูนย์พักคอยฯ ดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณโกดังคลังสินค้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ถนนราษฎร์บูรณะ อยู่ใกล้กับ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะฯ มีความพร้อมรับ-ส่งต่อคนไข้เคสเหลือง และคนไข้วิกฤตเข้าโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการตรวจรักษาคนไข้โควิดแบบครบวงจร และอยู่ใกล้กับศูนย์พักคอยฯ” ดร. สิทธิวัตน์ กล่าว
ดร. สิทธิวัตน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับคนไข้โควิดเคสเขียวที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยจะแยกผู้ป่วยจากบ้านเพื่อนำมาพักคอยที่ศูนย์พักคอยฯแห่งนี้ ซึ่งจะมีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลประชาพัฒน์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน ได้เป็นอย่างดี
โดยทางกลุ่ม IMH มีความพร้อม 100% ที่จะสู้รับมือการแพร่ระบาดของโควิด เชื้อกลายพันธุ์ใหม่ “โคมิครอน” ทั้งการตรวจโควิด และการรักษาคนไข้โควิดแบบครบวงจร ทั้งนี้ การระบาดในวงกว้างของ “โอมิครอน” ในรอบนี้อาจส่งผลให้คนไข้โควิดในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพิ่มขึ้นได้กว่า 10,000 – 30,000 คนต่อวัน จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจทำให้เตียงคนไข้ มีไม่เพียงพอได้ และมีผลร้ายแรงต่อคนไข้ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากมีความพร้อม 100% ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งการตรวจโควิด และการรักษาคนไข้โควิดแบบครบวงจร ประกอบกับมีโรงพยาบาล ประชาพัฒน์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีความพร้อมที่จะรับมือกับปริมาณคนไข้ที่จะเข้ามารักษาโควิด ส่งผลให้บริษัทฯประเมินอัตราการเติบโตของรายได้รวมในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มแตะระดับกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าที่วางไว้จะเป็นอีกปีของบริษัทฯที่จะทำนิวไฮเกินระดับที่วางไว้
“บริษัทฯยังสามารถบริหารต้นทุนรวมให้ต่ำลงได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากการ synergy ระหว่าง โรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ (บริษัทแม่) และ โรงพยาบาลประขาพัฒน์ (บริษัทลูก) ทั้งนี้ยังไม่รวมดีลขยายธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นใน ช่วงไตรมาส 1/65 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา” ดร. สิทธิวัตน์ กล่าว