“เมย์แบงก์” อัพเป้า JMT ใหม่ 80 บ. สะท้อนกำไรโตยาว-เก็งเข้า SET50 กลางปี 65
“บล.เมย์แบงก์” อัพเป้า JMT ใหม่ 80 บ. สะท้อนกำไรโตยาว ประเมินเดินหน้าทำสถิติใหม่ 5 ไตรมาสติด (4Q64-4Q65) คาดกิจการร่วมทุนสร้างกำไรราว 300-400 ลบ./ปี เก็งเข้าคำนวณดัชนี SET50 รอบกลางปี 65
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ว่า ภาพรวมในปี 2564 จะส่งท้ายด้วยกำไรงวดไตรมาส 4/2564 ที่คาดทำสถิติสูงสุดใหม่เท่ากับ 505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบจากปีก่อน มาจากยอดเก็บเงินสด 1,400 ล้านบาท 13% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว และเงินลงทุนพอร์ตหนี้ที่เติบโตขึ้น 61% เมื่อเทียบจากปีก่อน มาร์จิ้นที่สูงขึ้นจากกองหนี้ที่ไม่มีต้นทุน ทำให้ภาพรวมในปี 2564 เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบจากปีก่อน
ขณะที่ผู้บริหารได้แถลงถึงเป้าหมายในปี 2565 ที่กำไรจะเติบโตไม่น้อยกว่า 45% เมื่อเทียบจากปีก่อน ยอดเก็บเงินสดไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน เพิ่มขึ้นตามขนาดพอร์ตฯ ที่วางงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบจากปีก่อน ด้วยความพร้อมที่มากขึ้นหลังการเพิ่มทุน (RO) ทำให้ D/E ลดลงต่ำกว่า 1 เท่า เพื่อเตรียมรับปริมาณหนี้ SML-NPL ในระบบ 1.5 ล้านล้านบาท ที่คาดออกประมูลไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท/ปี
โดยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทประกาศร่วมลงทุนใน JV ภายใต้ KBANK เพื่อดำเนินธุรกิจติดตาม-บริหารหนี้ มองเป็นบวกต่อดีลนี้เพราะเป็นการยืนยันว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ลงมาแข่งขันในธุรกิจบริหารหนี้ฯโดยตรง, JMT มีความได้เปรียบคู่แข่งสูงขึ้นในการเข้าถึงอุปทาน NPLs, ด้วยโครงสร้างแบบ win-win และไม่มีข้อจำกัด (Exclusive) จึงมีโอกาสที่ธนาคารอื่นจะมาเจรจาในลักษณะที่คล้ายกัน
ทั้งนี้ JV ข้างต้นคาดจะเริ่มเห็นการโอนหนี้เข้ามาภายในไตรมาส 2/2565 ก่อนเริ่มรับรู้รายได้-กำไรในครึ่งปีหลังทันที ซึ่งเป็น Upside ของกำไรที่นอกเหนือประมาณการของบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) และตลาด (สมมติฐานมูลค่าพอร์ตหนี้เบื้องต้น 10,000 ล้านบาท JV จะสร้างกำไรราว 300-400 ล้านบาท/ปี คิดเป็น Upside ต่อ JMT 7-10% บนสัดส่วนการถือหุ้น 50%)
สำหรับโมเมนตัมกำไรที่เดินหน้าทำสถิติใหม่ 5 ไตรมาสติด หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 จนถึงไตรมาส 4/2565 และโอกาสถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ช่วงกลางปีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนใน 3-6 เดือนจากนี้ จึงได้ปรับราคาเหมาะสมปี 2565 ขึ้นเป็น 80 บาท/หุ้น จากการปรับ P/E จาก 35 เป็น 45 เท่า สมควรที่จะมี premium ในแง่ความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะยาว และกำไรสุทธิในปี 2565 ที่เติบโต 65% เมื่อเทียบจากปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 44% ในสามปีข้างหน้า ทำให้กำไรต่อหุ้น(EPS) ยังมีทิศทางเติบโต 35% เมื่อเทียบจากปีก่อน แม้เผชิญผล Dilution effect ในช่วงสั้นก่อนที่ P/E เหลือเพียง 30 เท่าในปี 2566