สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (10 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงท้ายตลาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,068.87 จุด ลดลง 162.79 จุด หรือ -0.45%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,670.29 จุด ลดลง 6.74 จุด หรือ -0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,942.83 จุด เพิ่มขึ้น 6.93 จุด หรือ +0.05%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันจันทร์ (10 ม.ค.) ซึ่งเป็นการร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นถ่วงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง ขณะที่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังคงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 479.04 จุด ลดลง 7.21 จุด หรือ 1.48%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,115.77 จุด ลดลง 103.71 จุด หรือ -1.44%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,768.27 จุด ลดลง 179.47 จุด หรือ -1.13% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,445.25 จุด ลดลง 40.03 จุด หรือ -0.53%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันจันทร์ (10 ม.ค.) โดยหุ้นกลุ่มก่อสร้างบ้านฉุดตลาดลง แม้เงินปอนด์ที่อ่อนค่าช่วยหนุนหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,445.25 จุด ลดลง 40.03 จุด หรือ -0.53%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (10 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดยังคงได้ปัจจัยหนุนจากความไม่สงบในคาซัคสถานซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัส รวมทั้งรายงานการผลิตน้ำมันที่ลดลงในประเทศลิเบีย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 67 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 78.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 88 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 80.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (10 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากราคาร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปิดที่ระดับต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.4 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,798.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 5.3 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 22.462 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 22.9 ดอลลาร์ หรือ 2.39% ปิดที่ 933.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 12.40 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1,909.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (10 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพุธนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ 95.9906
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9272 ฟรังก์ จากระดับ 0.9185 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2680 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2633 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.21 เยน จากระดับ 115.56 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1322 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1362 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3570 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3595 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7169 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7184 ดอลลาร์สหรัฐ