“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ หมูแพง-หมูขาด พื้นฐานตามหลักอุปสงค์-อุปทาน

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ หมูแพง-หมูขาด เป็นพื้นฐานเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น อยู่ในกลไกการตลาดตามหลักการอุปสงค์-อุปทาน อย่างไรแนะรัฐหาวิธีที่สนับสนุนและจูงใจเกษตรกรให้เร่งนำลูกหมูเข้าเล้าและเลี้ยงตามปกติ เพื่อสร้างอุปทานให้สมดุลกับอุปสงค์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่พูดกันกว้างขวางเป็น Talk of the Town ในสังคมไทยเวลานี้หนีไม่พ้น “หมูแพง-หมูขาด” เพราะกระทบกับวิถีชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมสูงถึงสูงที่สุด จากการเข้าถึงได้ง่ายและผลผลิตไม่เคยขาดแคลน อาจมีหายไปบ้างก็เล็กน้อยและผลิตมาทดแทนได้ตามเวลา เลยไม่เกิดกรณีเช่นในปัจจุบัน

โดยในวันนี้ “หมูแพง-หมูขาด” นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า นี่แหละคือพื้นฐานเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของกลไกการตลาดตามหลักการอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) กล่าวง่ายๆ คือ “ของเยอะราคาตก ของขาดราคาแพง” ซึ่งสถานการณ์หมูแพงขณะนี้เกิดจากของขาดและเป็นการขาดอย่างหนัก โดยมีเหตุผลหลัก 3 ประการ คือ 1.อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยเผชิญวิกฤตโรคระบาดในวงกว้างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี และร้ายแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหายไปจากระบบการผลิต 50% จากประมาณ 200,000 ราย เหลือเพียง 80,000 ราย ปริมาณสุกรแม่พันธุ์ ลดลงจาก 1.1 ล้านตัว เป็น 6.6 แสนตัว ลดลง 40% และปริมาณสุกรขุนลดลงจาก 19-20 ล้านตัวต่อปี เหลือเพียงไม่ถึง 15 ล้านตัวต่อปี ลดลง 30% ดูจากตัวเลขปริมาณการผลิตหายไปบ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะ “ขาดแคลน”

อีกทั้ง 2.เกษตรกรยังต้องแบกรับภาระขาดทุนจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 30-40% โดยเฉพาะราคาข้าวโพดสูงขึ้นจาก 8.50 เป็น 11.50 ต่อกิโลกรัม (ในเดือนกันยายน 2564) ขณะที่กากถั่วเหลืองปรับจาก 13 บาท เป็น 19 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงปรับสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน เท่ากับเกษตรกรเจอปัญหา “สองเด้ง” ทำให้ต้นทุน  และ 3.การขาดเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์ม การปรับปรุงโรงเรือนระบบปิดและระบบป้องกันโรค

ส่วนของราคาเนื้อหมูนั้นก็ตอบสนองตามกลไกการตลาดทันทีด้วยราคาที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ก้าวกระโดดอย่างแรงเหมือนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 200-220 บาทต่อกิโลกรัม และบางพื้นที่ปรับขึ้นไปถึง 250 บาท ในพื้นที่ที่ขาดแคลนสูง และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปแตะ 300 บาทต่อกิโลกรัม ภายในปีนี้ เพราะทราบกันดีว่ากว่าหมูรุ่นใหม่จะทยอยออกสู่ตลาดและเติมเต็ม ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6-12 เดือน

ด้านนักวิชาการอิสระอย่างนายลอย ชุนพงษ์ทอง ได้นำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลเมื่อเร็วๆนี้ เปรียบเทียบต้นทุนการผลิตหมูเมื่อต้นปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 73-79 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 76-80 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนผลิตของต้นปี 2565 ที่ปรับสูงขึ้นอีก อยู่ที่ 95-100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาหน้าฟาร์มปรับขึ้นไปที่ 105 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อรวมค่าขนส่งไปถึงเขียงหมูราคาจะอยู่ที่ 168 บาท และเขียงจะมีการปรับราคาขึ้นอีก 25% เป็นราคาขายปลีก ทำให้หมูเนื้อแดงมีราคา210 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้จากตัวเลขดังกล่าว กล่าวสั้นๆ คือ เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง นักวิชาการปศุสัตว์และนักเศรษฐศาสตร์มองว่าการผลิตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี รอเวลาที่คนเลี้ยงหมูมั่นใจ มีหลักประกันการป้องกันโรค และมีเงินทุนเพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์รอบใหม่และกลับเข้ามาเลี้ยง ดังนั้นในช่วงนี้แม้ความต้องการเพิ่มเพียงเล็กน้อยราคาจะปรับสูงขึ้นทันที เพราะสวนทางกับการผลิตซึ่งอยู่ในภาวะหดตัว จากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น เนื้อไก่ ได้รับอานิสงส์จากราคาที่ปรับสูงขึ้นด้วย เพราะสามารถทดแทนโปรตีนจากหมูได้ดี

สำหรับการแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์แบบเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น คือ การเพิ่มอุปทานหรือผลผลิตเข้าสู่ตลาดเร็วที่สุด  การนำเข้าจึงเป็นสูตรที่นักเศรษฐศาสตร์แนะนำ แต่อาจจะย้อนแย้งกับความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้กำกับดูแลภาครัฐ ในประเด็นการผลิตอาหารมั่นคงภายในประเทศ การนำเข้าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทั้งต้องพิจารณาและตรวจสอบอย่างรอบคอบถี่ถ้วนถึงคุณภาพความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากอาจมีสารตกค้างหรือสารปนเปื้อน เช่น สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ซึ่งเป็นสารต้องห้ามเด็ดขาดตามประกาศของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2545 ที่สำคัญการนำเข้าตามพิธีทางศุลกากรจำเป็นต้องเสียภาษีนำเข้า อาจจะทำให้ราคานำเข้าไม่ต่างกับราคาในประเทศในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากมีการนำเข้าเนื้อหมูยังเป็นเหมือนการซ้ำเติมเกษตรกรให้ต้องล้มหายตายจากอาชีพด้วย  จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหาโดยภาครัฐ จากการประกาศห้ามส่งออก ให้เช็คสต๊อกหมูของผู้ผลิต การห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ และการตรึงราคาสินค้า เป็นมาตรการพื้นฐานของรัฐ จะบังเกิดผลต่อเมื่อมีการกักตุนเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่าง แต่ในภาวะขาดแคลนแบบนี้ มาตรการรัฐดังกล่าวไม่แก้ปัญหาให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นเลย ทางที่ดีที่สุดปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด หาวิธีที่สนับสนุนและจูงใจเกษตรกรให้เร่งนำลูกหมูเข้าเล้า และเลี้ยงตามปกติให้เร็วที่สุดในการสร้างอุปทานให้สมดุลกับอุปสงค์ ถึงเวลานั้นผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ซึ่งเชื่อเถอะ…เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง

Back to top button