“นักโภชนาการ” แนะปรับตัวยุคหมูแพง ชี้สบช่องเพิ่มทางเลือกอาหาร
“นักโภชนาการ” แนะประชาชนปรับตัวกับการบริโภคอาหารในยุคที่เนื้อหมูมีราคาแพง ชี้สบช่องเพิ่มทางเลือกการกินอาหาร โดยสามารถเลือกกินอาหารประเภทอื่นๆที่สามารถกินทดแทนได้
ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการอิสระ ให้ข้อมูลว่า ในสถานการณ์ที่หมูราคาแพงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างน้อย 4 กลุ่ม คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู พ่อค้าเขียงหมู ผู้จำหน่ายอาหารที่ปรุงจากหมู และผู้บริโภคหมู ในขณะที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาราคาหมูแพงที่ต้นตอของปัญหาอยู่ขณะนี้ ผู้บริโภคเองก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยพิจารณาว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องปรับตัวกันอย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมความเดือดร้อน
สำหรับการไม่ได้กินเนื้อหมู ไม่ได้ทำให้ขาดสารอาหารใดๆ บางคนที่เสพเนื้อหมูเป็นประจำ อาจเสียความรู้สึกกับอรรถรสการกินไปบ้าง แต่หากรู้จักปรับตัวปรับใจ สามารถตัดความรู้สึกติด คุ้นชินกับการกินหมูออกไปได้ แม้ในยามหมูมีราคาแพง อย่างน้อยก็เป็นการประหยัดเงิน ช่วยชาติแก้ปัญหาหมูแพง และสุขภาพยังดีอยู่ ทำให้เกิดประโยชน์หลายทาง
อีกทั้งเนื้อหมูเป็นเพียงหนึ่งในอาหารหลากหลายชนิด ที่ให้สารอาหารต่างๆโดยเฉพาะโปรตีน ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับอาหารพวกเนื้อสัตว์อื่นๆ รวมทั้งนม ไข่และถั่วเมล็ดแห้ง นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารได้ จัดทำรายการอาหารแลกเปลี่ยน (Food Exchange Lists) ขึ้นมา เพื่อให้คนได้กินอาหารที่หลากหลายชนิด โดยนำเอาอาหารที่มีสารอาหารใกล้เคียงกันในแต่ละหมวดหมู่ มาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อสามารถกินทดแทนกันได้ ส่วนมากจะนำอาหารที่ให้สารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน มาจัดเป็นหมวดหมู่
ทั้งนี้แนะนำว่าให้ฉวยโอกาสช่วงหมูแพง หันมากินอาหารที่หลากหลาย โดยกินอาหารที่สามารถมาทดแทนเนื้อหมูได้ เช่น เนื้อปลา เพราะปลามีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมๆใกล้เคียงกับเนื้อหมู มีโปรตีนคุณภาพ ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ แต่เป็นไขมันดี เช่น โอเมก้า 3 อยู่สูง ควรกินทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลสลับกันไป ตามมาด้วยเนื้อไก่ที่มีไขมันต่ำกว่าเนื้อหมู แต่ให้โปรตีนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีเนื้อสตว์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ เนื้อวัว เนื้อเป็ด กุ้ง หอย ปู อาหารเหล่านี้จะให้โปรตีนที่ใกล้เคียงกัน คือ ราวๆ 20-30 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม
สำหรับคนที่กินมังสวิรัต หรือ คนกินเจ แทบจะไม่เดือดร้อนเลยในภาวะหมูแพง เพราะส่วนใหญ่จะได้โปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นที่ไม่ใช่หมู โดยเฉพาะจากถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะให้โปรตีนใกล้เคียงกับเนื้อหมู เนื้อสัตว์ต่างๆ แม้จะไม่สมบูรณ์เท่า เพราะขาดกรดอะมิโนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีนบางตัวไปบ้างก็ตาม แต่ถ้ากินถั่วเมล็ดแห้งควบคู่กับข้าว งา และธัญญพืชอื่นๆ ก็จะทำให้ได้รับกรดอะมิโนหรือโปรตีนที่สมบูรณ์ก็จะเท่าเทียมกับการกินเนื้อหมูได้ ดังนั้นในช่วงหมูแพง ถ้าจะหันมากินมังสวิรัตหรือเจกันบ้างเป็นบางมื้อบางวัน ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์จากการกินอาหารทดแทนเนื้อหมูได้ แต่ขอแนะนำให้กินมังสะวิรัตแบบกินไข่และดื่มนมควบคู่กันไป เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะ วิตามิน บี12 ธาตุเหล็ก และ แคลเซียม
อย่างไรก็ดีช่วงหมูแพง แกล้งเบื่อหมูกันดีไหม? โดยสั่งซื้อหรือปรุงประกอบอาหารแบบไม่ง้อหมู อาทิ ผัดกระเพราไก่ หรือกระเพราปลา ก๋วยเตี๋ยวไก่/ปลา/เป็ด ราดหน้าหรือผัดซีอิ้วไก่ ลาบไก่/ปลา ลาบเต้าหู้ แกงจืดเต้าหู้ ปลาเผา ต้มยำปลา/กุ้ง/ไก่ ปลา/ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย ผัดผักรวมใส่ไก่/กุ้ง/ปลา เป็นต้น ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเสริมอาหารโปรตีนช่วงหมูแพง ควรเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ ไข่เป็ด และดื่มนมให้มากขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัยและสุขภาพของแต่ละคน
อนึ่งควรปรับพฤติกรรมการกิน การปรุงประกอบอาหาร ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความอยู่รอดอย่างมีความสุข ในช่วงภาวะหมูขึ้นราคาเช่นนี้ โดยการตั้งสติยอมรับความจริง แล้วหาทางออกที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นให้ได้ เมื่อคนไทยส่วนมากทำได้ ผลประโยชน์ที่ตามมาคงไม่ใช่เพียงแค่จะทำให้ไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายซื้อหมูแพงเท่านั้น แต่สุขภาพจิตสุขภาพกายก็ยังคงเป็นปกติดีเช่นเดิม
“ส่วนคนที่ไม่ปรับตัวในยามหมูแพง หากหมูพูดได้ มันก็จะออกมาเยาะเย้ยว่า… “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ในทางตรงกันข้าม ใครที่สามารถนำข้อแนะนำเหล่านี้ไปปฏิบัติได้ คนเหล่านั้นจะเป็นผู้ “ฉลาดรอบรู้ เมื่อหมูแพง” และพูดกับหมูได้เต็มปากว่า… “แม้ขาดหมู ฉันก็ไม่รู้สึก” ดร.สง่า กล่าว