สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ม.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ม.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นนำตลาด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเชื่อมั่นว่า แผนการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,252.02 จุด เพิ่มขึ้น 183.15 จุด หรือ +0.51%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,713.07 จุด เพิ่มขึ้น 42.78 จุด หรือ +0.92% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,153.45 จุด พุ่งขึ้น 210.62 จุด หรือ +1.41%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยตลาดฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจากความหวังว่าจะประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ดีเกินคาด หลังจากที่ความวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นได้ฉุดหุ้นกลุ่มดังกล่าวร่วงลงอย่างหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 483.08 จุด เพิ่มขึ้น 4.04 จุด หรือ +0.84%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,183.38 จุด เพิ่มขึ้น 67.61 จุด หรือ +0.95%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,941.81 จุด เพิ่มขึ้น 173.54 จุด หรือ +1.10% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,491.37 จุด เพิ่มขึ้น 46.12 จุด หรือ +0.62%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยฟื้นตัวขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาจากความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่หุ้นขนาดกลางดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,491.37 จุด เพิ่มขึ้น 46.12 จุด หรือ +0.62%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 2.99 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 81.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2564
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 2.85 ดอลลาร์ 3.5% ปิดที่ 83.72 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 20 ดอลลาร์ในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับรุนแรงกว่าที่เฟดได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 19.7 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,818.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 1.56% ปิดที่ 22.812 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 39.6 ดอลลาร์ หรือ 4.24% ปิดที่ 973.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 12.90 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1,922.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (11 ม.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างไปจากเดิม ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.37% แตะที่ 95.6314 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9237 ฟรังก์ จากระดับ 0.9272 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2581 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2680 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.36 เยน จากระดับ 115.21 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1366 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1322 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3627 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3570 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7208 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7169 ดอลลาร์สหรัฐ