“หุ้นเอเชีย” บวก รับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ สอดคล้องคาดการณ์

“หุ้นเอเชีย” เปิดบวก! หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดจะไม่ทำให้เฟดถูกกดดันให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวในแดนบวกเช้าวันนี้ โดยบางส่วนได้แรงหนุนจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดบวกในวันพุธ (12 ม.ค.2565) หลังมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดจะไม่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถูกกดดันให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,658.22 จุด ลดลง 107.44 จุด หรือ -0.37%, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,601.03 จุด เพิ่มขึ้น 3.60 จุด หรือ +0.10% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,561.48 จุด เพิ่มขึ้น 159.31 จุด หรือ +0.65%

สำหรับกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.00% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2525 อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่

ด้านวิลล์ คอมเพอร์นอลล์ นักวิเคราะห์จากบริษัท FHN Financial กล่าวว่า “ตลาดขานรับดัชนี CPI เดือนธ.ค.ของสหรัฐที่ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ และเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะไม่ทำให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฟดส่งสัญญาณว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนมี.ค. และจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้”

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยล่าสุดนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงวานนี้ว่า “ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านคนในสัปดาห์เดียว เนื่องจากไวรัสโอมิครอนได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว”

ส่วนแพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO ด้านการรับมือโควิด-19 กล่าวว่า “จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นมากสร้างภาระให้กับระบบการดูแลสุขภาพ ถึงแม้โอมิครอนจะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ก็ยังทำให้คนต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ดี ยังคงมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU และจำเป็นต้องได้รับการดูแลขั้นสูง โอมิครอนยังคร่าชีวิตผู้คนอยู่”

ทั้งนี้รายงานระบาดวิทยาของ WHO ยังระบุว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อกว่า 357,000 รายในช่วง 30 วันที่ผ่านมา เกือบ 59% ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน WHO ยังเตือนว่าข้อมูลอาจไม่ได้แสดงรายละเอียดครบถ้วนว่าโอมิครอนได้แพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความล่าช้าและข้อจำกัดในการจัดลำดับพันธุกรรมไวรัสในบางประเทศ ข้อมูลยังระบุว่า ไวรัสโอมิครอนใช้เวลาในการแพร่กระจายน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ สองเท่า และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

Back to top button