อัพเดต! ยอดใช้รถยนต์ EV ในไทยล่าสุด สิ้นงวดปี 64

อัพเดต! ยอดใช้รถยนต์ EV ในไทยล่าสุด สิ้นงวดปี 64 มีรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 3,994 คัน ทั้งจากแบรนด์จีน ยุโรป และญี่ปุ่น


ยุคปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ Electric Vehicle (รถ EV) มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการยานยนต์โลก และวงการยานยนต์ไทย ด้วยยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

โดยล่าสุด กรมขนส่งทางบก เปิดเผยข้อมูลจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่จดทะเบียนในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 3,994 คัน ขณะที่จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าลูกผสมที่จดทะเบียนในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 218,381 คัน และจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าลูกผสม ได้แก่ (1) เบนซิน-ไฟฟ้า จำนวน 175,749 คัน (2) ดีเซล-ไฟฟ้า จำนวน 11,520 คัน (3) LPG-เบนซิน-ไฟฟ้า จำนวน 27 คัน(4) เบนซิน-ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก จำนวน 31,081 คัน (5) ดีเซล-ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก จำนวน 4 คัน

ขณะเดียวกันกรมขนส่งทางบก ยังเปิดเผยรายงานสถิติจำนวนรถใหม่ป้ายแดงที่จดทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์จำแนกตามยี่ห้อรถ ประเภทรถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) ทั่วประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2564 พบว่ามียอดจดทะเบียนรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,935 คัน ทั้งจากแบรนด์จีน ยุโรป และญี่ปุ่น โดยยี่ห้อ MG มียอดจดทะเบียนสูงสุด 1,066 คัน ตามมาด้วยยี่ห้อ TESLAจำนวน 222 คัน ถัดมายี่ห้อ PORSCHE จำนวน 194 คัน

อีกทั้งตามด้วยยี่ห้อ FOMM จำนวน 109 คัน และยี่ห้อ MINI จำนวน 83 คัน, ยี่ห้อ NISSAN จำนวน 61 คัน, ยี่ห้อ HYUNDAI จำนวน 27 คัน, ยี่ห้อ BYD จำนวน 17 คัน, ยี่ห้อ WULING จำนวน 16 คัน, ยี่ห้อ TOYOTA จำนวน 11 คัน ส่วนที่เหลือเป็นอื่นๆ ดูจากตารางประกอบ

ทั้งนี้เหตุผลที่คนไทยเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากค่ายรถจะมีโปรดักส์นำเสนออย่างต่อเนื่องแล้ว อีวีอีโคซิสเต็มในบ้านเราได้รับการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะจำนวนสถานีชาร์จและความสะดวกสบายในการใช้งาน

นอกจากนี้นโยบายรัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ วางโรดแมปให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 10% ของการผลิตรถยนต์ในปี 2568 และขยายไปถึง 30% ภายในปี 2573

ขณะเดียวกัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมผู้ใช้รถยนต์ของคนไทย 1,000 คนจากทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 พบว่า คนไทยให้ความสนใจเลือกซื้อรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่มากขึ้นกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

โดยผลสำรวจระบุว่าผู้บริโภคชาวไทยที่มีความสนใจในรถยนต์พลังงานทางเลือก (xEV) ให้เหตุผลถึงความต้องการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถึง 83.85% ขณะที่ 52.41% สนใจรถยนต์ xEV เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าระบบไฮบริด ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ที่ผู้บริโภคชาวไทยสนใจมากที่สุดถึง 44.82%

ทั้งนี้จากผลสำรวจยังพบว่า 3 ปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อรถพลังงานทางเลือกใหม่ของคนไทย ได้แก่ ความคุ้มค่าของราคา (33.77%) ความปลอดภัย (23.59%) และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (11.45%)

อีกทั้งยังให้การตอบรับเชิงบวกต่อรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น ที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการขึ้นเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนไทย ควบคู่ไปกับการสร้าง ecosystem ด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ให้เข้ามาในประเทศได้ก่อน คู่แข่งอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยไม่อาจอาศัยจุดแข็งเดิมในการมีคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมันขนาดใหญ่เป็น แรงดึงดูดหลักดังเช่นอดีตได้อีกต่อไป

โดยล่าสุดภาครัฐไทยเองก็ได้เริ่มแสดงความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของมาตรการกระตุ้นฝั่งดีมานด์ภายในประเทศเพื่อแสดงจุดยืนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ BEV แล้วแม้อาจจะยังอยู่ระหว่างการรอพิจารณาอนุมัติด้วยการสนับสนุนผ่านมาตรการที่เชื่อว่าจะทำให้ราคารถยนต์ BEV ในประเทศท้ายที่สุดลดลงมาเหลือระดับที่จับต้องได้มากขึ้นใกล้เคียงกับรถยนต์ใช้น้ำมัน

อนึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าไทยมีโอกาสจะได้เห็นภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ BEV ที่เร่งขึ้นในช่วง 4 ปีจากนี้โดยเฉพาะจากค่ายรถจีนที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว และมีแผนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เช่นเดียวกันกับค่ายรถหรู ตะวันตกที่อาจให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกสำหรับรถยนต์ BEV พวงมาลัยขวา แต่สำหรับค่ายรถญี่ปุ่นอาจมีเพียงบางค่ายที่พร้อมลุยจากประเด็นความพร้อมด้านเทคโนโลยี ด้านค่ายรถเกาหลีใต้อาจมีโอกาสน้อยที่จะเข้ามาลงทุนเนื่องจากได้มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งใช้ช่องทางภาษีนำเข้า 0% ภายในอาเซียนได

ส่วนผลของมาตรการต่อยอดขายรถยนต์ BEV ในประเทศปี 2565 ยังคงจำกัด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ BEV ในประเทศปี 2565 อาจทำได้ระหว่าง 4,000 ถึง 5,000 คัน ที่แม้จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ถึง 0.6% ของยอดขายรวมทั้งปีที่คาดว่าจะ ทำได้ 780,000 ถึง 820,000 คัน ทว่า หากมาตรการที่ออกมาสามารถกระตุ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อและค่ายรถได้ดีก็มีโอกาสที่จะเพิ่ม จำนวนขึ้นได้ในอัตราเร่งในปีถัดๆไป จนอาจเพิ่มขึ้นไปถึงตัวเลขยอดขายต่อปีที่ 25,000 คันได้ในปี 2568 ที่โครงการจบ

อย่างไรก็ตามในส่วนของรถเพื่อการพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ที่ไทยเองเป็นหนึ่งในฐานผลิตหลักของโลก เนื่องจากค่ายรถยังไม่ลงมาลุยทำตลาดในเทคโนโลยีนี้จึงอาจต้องรออีกระยะหนึ่ง ซึ่งเมื่อค่ายรถมีแผนลุยตลาดก็มีโอกาสที่ไทยจะได้รับอานิสงส์ขึ้นเป็นฐานผลิตในอนาคต เพื่อให้ไปถึงจุดนั้นไทยจึงควรเร่งสร้างความชัดเจนของตลาดรถยนต์ BEV ในประเทศก่อนคู่แข่งอื่น

สำหรับไทยยังมีจุดชาร์จไฟฟ้าอยู่เพียง 693 จุด รวม 2,285 หัวจ่าย และกว่า 66% เป็นหัวจ่ายแบบ AC หรือระบบชาร์จแบบปกติ ซึ่งจะใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 12-15 ชั่วโมง ไม่เหมาะกับการใช้งานของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งอาศัยอยู่คอนโดหรือตึกแถว

ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าที่มีหัวจ่ายแบบ DC หรือระบบชาร์จเร็ว ที่ใช้เวลาในการชาร์จเร็วขึ้นเหลือ ประมาณ 30 นาที น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนควบคู่กับการขยายจุดชาร์จไฟฟ้าหัวจ่ายแบบ AC เพิ่มขึ้น ด้วยตามที่จอดรถสาธารณะหรือที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน หรือตามคอนโดที่อยู่อาศัย

พร้อมกับการสร้างระบบจัดการข้อมูลในการจองหรือเลือกจุดชาร์จที่มีประสิทธิภาพใช้งานง่าย ผ่าน แอปพลิเคชั่นที่สามารถจัดการระบบ Big data โดยเฉพาะข้อมูลจุดชาร์จของผู้ให้บริการแต่ละค่ายได้อย่างเหมาะสมครอบคลุมและเป็น Real time

Back to top button