TISCO เปิดกลยุทธ์ปี 65 เน้น “Hybrid Advisory” ยกระดับบริการลูกค้า
TISCO เปิดกลยุทธ์ปี 65 เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ชูธีม “Hybrid Advisory” ตอบโจทย์ลูกค้ายุค COVID Disruption มุ่งเป็นที่ปรึกษาที่ดี ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่า พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับบริการให้ลูกค้า
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ระดับ 3.30% ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับ “การเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ภายใต้รูปแบบการให้บริการที่เน้นตอบโจทย์ลูกค้าในธีม “Hybrid Advisory” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการให้ “คำแนะนำที่ดี” ควบคู่กับการมี “ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้แก่ลูกค้า รวมถึงการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยยกระดับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมดของการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และโอกาสการกลายพันธุ์ที่ยังไม่จบ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก จึงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง จากนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะเร่งระดับของการเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่การให้บริการจะเห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน กับจุดแข็งของความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (Top Advisory) ที่กลุ่มทิสโก้มุ่งเน้นมาโดยตลอดมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า พร้อมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ” นายศักดิ์ชัย กล่าว
สำหรับยุทธศาสตร์การเติบโตในแต่ละกลุ่มธุรกิจของทิสโก้กำหนดเป้าหมายไว้ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจรายย่อย จะมุ่งสนับสนุนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเพื่อการบริโภค ผ่านช่องทางสาขาธนาคารทิสโก้ การขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มเป็น 400 แห่ง โดยกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและความรู้ทางการเงินได้มากขึ้น พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และแสวงหาโอกาสการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กลุ่มรถบรรทุก เป็นต้น รวมถึงเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น
ธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดแบบคู่ขนานทั้งการสานต่อและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจอื่น เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการเข้าถึงลูกค้าแบบ Customer Touchpoint และเพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
กลุ่มธุรกิจบรรษัท จะยังคงใช้จุดแข็งในการบริหารงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจรในลักษณะ Total Solution ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบด้านและดีที่สุด (Best Solution)
กลุ่มธุรกิจธนบดีและจัดการกองทุน จะเดินหน้าบริการออกแบบแผนการเงินเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นการวางแผนการเงินในเชิงลึกตามแนวทางการบริหารความมั่งคั่งแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ของทิสโก้ และรองรับเทรนด์สังคมอายุยืน (Aging Society) ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยครอบคลุมทั้งการวางแผนการลงทุน การคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการวางแผนเกษียณ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละรายได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้จะมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass-affluent มากขึ้น ผ่านบริการลงทุน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาการลงทุน
“ผลการดำเนินงานในปี 2564 ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ 6,781 ล้านบาท เติบโต 11.80 % จากปี 2563 ขณะเดียวกันทิสโก้ยังสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างทันท่วงที ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น คืนรถจบหนี้ ขายรถปิดหนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 เป็นต้น โดยโครงการคืนรถจบหนี้ที่สิ้นสุดโครงการลงทั้ง 2 เฟสเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทิสโก้สามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 3,800 ราย ทั้งนี้ แม้จะสิ้นสุดโครงการไปแล้ว แต่หากลูกค้าเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถยนต์ของทิสโก้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID -19 ระลอกใหม่ ก็สามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือจากทิสโก้ได้ โดยที่บริษัทจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้” นายศักดิ์ชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามกลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมปรับตัวและพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเดินหน้าปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลและการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สรุปผลประกอบการในปี 2564
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.80% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุน กำไรจากเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง โดยในรายละเอียด รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 9.70% จากปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนที่เติบโต 46.20% จากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี และการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของกองทุน รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.10% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว 7.80% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่ออ่อนตัวลง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 4.9% ตามทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว
นอกจากนี้บริษัทฯ มีผลกำไรจากมูลค่าเงินลงทุนที่ตีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.00% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย จากการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16.80%
อนึ่งเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 202,950 ล้านบาท ลดลง 9.70% จากสิ้นปีก่อนหน้า เนื่องมาจากบริษัทฯ ดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.40% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าความคาดหมาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 236.70%
อย่างไรก็ดีธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 25.20% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.00% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20.20% และ 5.00% ตามลำดับ