สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ม.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ม.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (19 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องและเข้าสู่การปรับฐาน (Correction) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,028.65 จุด ลดลง 339.82 จุด หรือ -0.96%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,532.76 จุด ลดลง 44.35 จุด หรือ -0.97% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,340.26 จุด ลดลง 166.64 จุด หรือ -1.15%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อยในวันพุธ (19 ม.ค.) ขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของหุ้นรายตัว ขณะที่นักลงทุนไม่สนใจความวิตกเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 480.90 จุด เพิ่มขึ้น 1.11 จุด หรือ +0.23%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,172.98 จุด เพิ่มขึ้น 39.15 จุด หรือ +0.55%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,809.72 จุด เพิ่มขึ้น 37.16 จุด หรือ +0.24% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,589.66 จุด เพิ่มขึ้น 26.11 จุด หรือ +0.35%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (19 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มสินค้าผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้น อาทิ หุ้นดิอาจีโอและหุ้นยูนิลีเวอร์ ขณะที่นักลงทุนมองข้ามความวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในอังกฤษ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,589.66 จุด เพิ่มขึ้น 26.11 จุด หรือ +0.35%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีในวันพุธ (19 ม.ค.) หลังเกิดเหตุระเบิดท่อส่งน้ำมันของตุรกี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลำเลียงน้ำมันจากอิรักไปยังตุรกี นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปีนี้
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.53 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 86.96 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2557
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 88.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2557
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนในวันพุธ (19 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซีย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 30.8 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 1,843.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 73.9 เซนต์ หรือ 3.15% ปิดที่ 24.231 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 48.9 ดอลลาร์ หรือ 4.99% ปิดที่ 1,028.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 103.80 ดอลลาร์ หรือ 5.5% ปิดที่ 2008.40 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (19 ม.ค.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.พ. หลังจากอังกฤษเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.22% แตะที่ 95.5180 เมื่อคืนนี้
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3625 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3597 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1351 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1328 ดอลลาร์ ส่วนเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7224 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7185 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.24 เยน จากระดับ 114.62 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9153 ฟรังก์ จากระดับ 0.9170 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2489 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2506 ดอลลาร์แคนาดา