AJA ส่งซิกรายได้ปี 65 โต 500 ลบ. ชูโรงธุรกิจ “อีวี ไบค์ -เหมืองขุดบิทคอยน์”

AJA ตั้งเป้าปี 65 โดยรายได้ 400-500 ลบ. ชูธุรกิจ AJ EV BIKE เด่น ลุ้นมียอดขาย 3,000 คัน และธุรกิจทำเหมืองขุดบิทคอยน์ ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 68 เครื่อง เดินหน้าครบ 200 เครื่องภายในไตรมาส 1/65


นายพิชัย ปัญจสังข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท จากปี 2564 ที่คาดว่าจะทรงตัว โดยจะมาจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจ AJ EV BIKE (เอเจ อีวี ไบค์) เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจทำเหมืองขุดบิทคอยน์ ซึ่งธุรกิจที่จะเป็นดาวรุ่งในปี 2565 หลักๆ จะเป็น ธุรกิจ AJ EV BIKE และธุรกิจทำเหมืองขุดบิทคอยน์

สำหรับธุรกิจทำเหมืองขุดบิทคอยน์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565  โดยในช่วงเริ่มต้นมี 50 เครื่อง ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 68 เครื่อง หรือได้เพิ่มขึ้น 18 เครื่อง ซึ่งตามแผนจะให้ครบ 200 เครื่องภายในไตรมาส 1/2565 หากผลตอบรับดี และมีผลตอบแทนที่ดี ก็อาจจะมีการขยายเครื่องเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามได้มีการแบ่งห้องในบริษัททำเหมืองขุด ที่มีระบบรองรับตามมาตรฐาน

ด้านธุรกิจ AJ EV BIKE ทางบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจมา 2 ปีแล้ว ในปี 2565 เป็นปีที่ 3 ที่ทำธุรกิจนี้ โดยจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามายังไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งหมด จะต้องมีการปรับในส่วนของมอเตอร์ และแบตเตอรี่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่บางส่วนมีการประกอบในประเทศ ช่วยลดต้นทุน และลดภาษี จึงถูกกว่าการนำเข้า จึงเป็นที่มาให้บริษัทได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในการศึกษาโครงสร้างชิ้นส่วนประกอบและราคาของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิต ประกอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

รวมทั้งมีการเจรจากับซัพพลายในจีนด้วย แม้รถในตลาดมีรถจำนวนมาก แต่รถที่ถูกต้องมีน้อย การที่บริษัทอยู่ในตลาดหุ้น จึงต้องทำอย่างถูกต้อง ลดต้นทุนได้ และมีคุณภาพที่ดี ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่าย 50 ดีลเลอร์ทั่วประเทศ คาดจะมี ออกรุ่นใหม่ 2-3 รุ่น ตั้งเป้าหมายในปี 2565 จะมียอดขาย 3,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ของจักรยานไฟฟ้า ที่ดีกว่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า คือ 1.มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และ 2.ไม่ต้องไปจดทะเบียน ทำให้มีคนใช้และเป็นที่นิยมมากขึ้น เบื้องต้นตั้งราคาขายไว้ไม่เกิน 10,000 บาท

นอกจากนี้เมื่อปลายปี 2564 บริษัทได้มีการเซ็น MOU กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยการทำเทคโนโลยี 5G ไปใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ตามแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี สำหรับทางบริษัทมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี อีกทั้งบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายของ อาลีบาบา คลาวด์ และมีความร่วมมือกับไชน่า โมบาย ให้สามารถทำโซลูชั่นมาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 5G ของ NT ได้  คาดว่าบริษัทน่าจะเริ่มมีการรับรู้รายได้ตั้งปี 2566 เป็นต้นไป

โดยการดีลงานกับหน่วยงานรัฐ จะมีเรื่องของรอบงบประมาณ จึงได้คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2566  อีกทั้งยังมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบัน Smart City เป็นนโยบายที่ทุกเมืองต้องมี ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ 7 ด้าน เช่น  Smart Economy, Smart Environment และ Smart Mobility เป็นต้น งบประมาณในการพัฒนาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ อาจจะประมาณ 40-50 ล้านบาท หรือประมาณ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริษัทในเครือ ที่ให้บริการตู้เติมเงิน ในนามบริษัท บางกอกเพย์ จำกัด ปัจจุบันมีเป็น 10,000 ตู้ทั่วประเทศ และยังสามารถขยายได้ต่อเนื่อง  รวมถึงยังเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ AJ SIM บนโครงข่าย NT ทั้งนี้ตู้เติมเงินให้บริการทุกเครือข่าย ในอนาคตอาจจะเพิ่มในส่วนของการชาร์จไฟฟ้าด้วย โดยยังขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของกฎหมาย

Back to top button