“กรมการค้าภายใน” เร่งหาทางออกของแพง ชี้คุมราคาสินค้า แก้ปัญหาปลายทาง

“กรมการค้าภายใน” เร่งหาทางออกของแพง ชี้ตรึงราคาสินค้าไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ต้องลงทุนกับปัจจัยป้องกันโรคไปก็ไม่น้อยทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% แต่ไม่มีมาตรการตรึงต้นทุนการผลิต


สำหรับช่วงนี้ กรมการค้าภายใน ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ หัวบันไดไม่แห้ง ด้วยมีการเรียกผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค เข้าพบรายวัน เพื่อหารือและขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้นำรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการตรงไปยังกระทรวงฯ ให้แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง (ทั้งแผ่นดิน) ที่ล้อมาจากราคาหมูแพง และกลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ไปสินค้ารายการอื่นๆ ร้อนถึงกรมฯ ต้องงัดมาตรการเช็คสต๊อกและคุมราคาสินค้า ซึ่งเป็นอาวุธหลักของกระทรวงพาณิชย์มาปัดฝุ่นใช้ เพื่อให้เห็นว่าทำตามหน้าที่ แต่ไม่รู้ว่าซ้ำเติมใครบ้าง

ทั้งนี้หากโจทย์ คือ การบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค ก็ต้องไม่ลืมว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน ทำให้เห็น 2 ความจริง 2 ข้อ และ 2 ความแปลก

โดยความจริง คือ ราคาสินค้าแพงมาก่อนหน้าหมูแพงเสียอีก เกิดเป็นแปลกที่ 1 “หมูกลายเป็นแพะ” ไปโดยปริยาย ทั้งที่ผู้ประกอบการอั้นราคากันจนเหงื่อไหล เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ประชากรโลกได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เศรษฐกิจโลกเริ่มขยับขยายจากการปลดล็อก กิจกรรมต่างๆเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นหลังจากหลับไหลไปนาน ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนการผลิตตามไม่มัน ราคาซื้อขายทันที (spot price) น้ำมันดิบเบรนท์ เปิดตลาดต้นปี 2564 ที่ราคา 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มเป็น 86 เหรียญสหรัฐ ในปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกัน และราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบทั้งปี 2564 อยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 อยู่ที่เกือบ 87 เหรียญสหรัฐ ยังไม่นับปัจจัยการผลิตอื่นที่เดินแถวกันขึ้นราคา

ส่วนความจริงอีก 1 เรื่อง คือ หมูแพงเพราะหมูขาด โรคระบาดทำให้ผลผลิตหายไปมากกว่า 50% นี่คือกลไกการตลาดตามหลักการอุปสงค์-อุปทานทำงานสมบูรณ์ ในหลักเศรษฐศาสตร์ของขาด-ราคาแพงเพราะคนแย่งกันซื้อ ก็ต้องหาของมาเติมในตลาดให้พอกับความต้องการราคาก็จะปรับลง แต่วิธีนิยมของไทย คือ การตรึงราคาซึ่งไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่ต้องอดตาหลับขับตานอนป้องกันสัตว์ในฟาร์มอย่างดีที่สุด ต้องลงทุนกับปัจจัยป้องกันโรคไปก็ไม่น้อยทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% แต่ไม่มีมาตรการตรึงต้นทุนการผลิตช่วยพวกเขาเลย นี่ก็แปลกที่ 2

อนึ่งการตรึงราคาไปทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีกำหนดเวลา นั้นจะทำให้ของที่ไม่ขาดตลาดกลายเป็นขาดตลาดได้จากการกักตุนเพื่อให้ราคาสูงขึ้น ให้ได้เงินมาชดเชยต้นทุน เพราะการค้าไม่ใช่การกุศล “มันต้องมีกำไร” มันถึงจะสมดุลสมประโยชน์ “ผู้ผลิตอยู่ได้ผู้บริโภคมีของ” ถ้ากลัวจะค้ากำไรเกินควร กรมการค้าภายในมีวิธีการคำนวณต้นทุนราคาสินค้าและมีอาวุธครบมือในการปราบปรามพวกฉวยโอกาส ก็ต้องใช้ให้ถูกเวลาและเหมาะสม ลงดาบตัดตอนได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต แต่วิธีการตรึงราคาที่ใช้อยู่ความจริงที่ว่า หมูแพงเพราะหมูขาด มันเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง ที่สุดผู้เลี้ยงผู้เลี้ยงก็ต้องออกมาแก้ปัญหาเองด้วยการยอมตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มที่ 110 บาท/กิโลกรัม แบบจับมือกันไว้ก้าวไปด้วยกัน เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อแดงเฉลี่ยยืนอยู่ที่ 220-250 บาท/กิโลกรัมไม่เกินกว่านี้ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น (Soft Landing)

ทั้งนี้อยากจะขอย้ำ ว่า การแก้ปัญหาราคาหมูแพงด้วยมาตรการการตรึง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มผลผลิตรอบใหม่เพื่อกู้สถานการณ์ให้กลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของเกษตรกรว่ามั่นใจกับราคาที่จะได้รับมากน้อยแค่ไหน หากปล่อยขึ้นลงตามกลไกตลาดก็ยังเห็นอนาคตให้เดินหน้า แต่หากทุกอย่างยังบิดเบือนอนาคตการบริโภคเนื้อหมูของไทยคงต้องพึ่งการนำเข้า เพราะเกษตรกรคงลาออกจากวงจรนี้แน่นอน

Back to top button