GULF รวบ 2 ดีลรวด! เขื่อน “ปากลาย” 770MW พ่วง “โรงขยะ” ที่เชียงใหม่อีก 9.5MW

GULF ปิด 2 ดีลรวด! เขื่อน “ปากลาย” สปป.ลาว ขนาด 770MW และโรงไฟฟ้าขยะ จ.เชียงใหม่ ขนาด 9.5MW


บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (Gulf Renewable Energy) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของบริษัท ออล เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (ALL WTE) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CM WTE) ซึ่งได้สิทธิจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ในการบริหารจัดการระบบจัดการขยะมูลฝอย

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน CM WTE เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งไม่ต่ำกว่า 9.5 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับปริมาณขยะไม่ต่ำกว่า 650 ตันต่อวันจาก อบจ.เชียงใหม่ โดยมีรายได้จาก 2 ส่วน คือรายได้จากบริการกำจัดขยะด้วยวิธีการคัดแยกและฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ และรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยโครงการมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลังจากได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการก่อสร้าง

โดยการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนดังกล่าว ถือเป็นการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ และเป็นโครงการที่ช่วยลดปัญหาการจัดหาบ่อฝังกลบขยะเพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภายหลังการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 บริษัทฯ และ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. (SHK) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Power Construction Corporation of China Ltd. (POWERCHINA) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)

โดยบริษัทฯ และ SHK มีแผนที่จะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการฯ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โดย กฟผ. จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการเจรจารายละเอียดเงื่อนไข และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. ในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการฯ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ที่ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้น โครงการฯจึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

สำหรับการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภายหลังการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์โดยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อต้านผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ยังสอดคล้องกับการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของบริษัทฯ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งลูกค้ารายใหญ่อย่าง Hyperscaler มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางพลังงานโลก

Back to top button